แบรนด์เนม VS โนเนม

แบรนด์เนม VS โนเนม

คำว่า“แบรนด์เนม” เป็นอะไรที่ผู้บริโภคมักจะเชื่อใจเสมอ 

สมมติถ้ามีของ 2 ชิ้น คุณภาพเท่าๆ กัน และราคาพอๆ กัน แน่นอนว่าเราย่อมเลือกซื้อของแบรนด์เนมอยู่แล้ว เพราะอย่างไรก็ชัวร์กว่า และรู้สึกคุ้มค่ากว่าที่จะซื้อของโนเนมแน่นอน 

แต่ถ้ามีของที่คุณภาพดีกว่า สวยกว่า และตอบโจทย์มากกว่า “แบรนด์”อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดอีกต่อไป 

สำหรับยุคนี้ที่ของดีและคุ้มค่าต้องมาก่อน ส่วนแบรนด์มาทีหลัง พร้อมกับความเชื่อใจในตัวแบรนด์ของผู้บริโภคนั้นดูจะน้อยลงๆ ทุกที เพราะหลายๆ แบรนด์หลงทางด้วยกระแสโซเชียลมีเดีย กลัวว่าจะตกยุคสมัย ใช้สื่อไม่อินเทรนด์เหมือนชาวบ้านเขา เลยมุ่งไปให้น้ำหนักกับโซเชียลมีเดียมากกว่าการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค 

อีกทั้งไม่ทันระวังตัวว่าเหล่าสตาร์ทอัพ แบรนด์เล็กๆ หรือแม้กระทั่งของโนเนม กำลังคืบคลานเข้ามาแย่งส่วนแบ่งไปแบบเงียบๆ จนแทบจะบอกได้ว่าเป็น ยุคทองของโนเนมเลยจริงๆ

ทำไม“โนเนม”ถึงขายได้โดยไม่ต้องเสียเงินทำการตลาดมากมาย 

จริงๆ ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร และไม่ต้องใช้หลักสูตร Marketing 101, 102, 103 อะไรเลย แค่กลับมามองดูว่า “ผู้บริโภคอยากได้อะไร” แล้วก็ขายของที่ดีให้เขา สุดท้ายผู้บริโภคก็จะกลายมาเป็น Brand Ambassador ให้เราเองโดยสมัครใจ แล้วเข้าสู่โหมด Word of mouth ของแท้ 

มาวิเคราะห์กันว่าพวกแบรนด์เล็กๆ หรือแม้แต่ของโนเนม เขาขายดิบขายดีในยุคนี้ได้อย่างไร

1.ทุกสินค้าใดในโลกที่เป็นที่นิยมล้วนเริ่มจากมี “ของดี” ไม่ได้เริ่มจากการมีแบรนด์ที่ดี เพราะชื่อแบรนด์มาใส่ทีหลัง หลังจากของเราดี เป็นที่นิยมแล้ว และต้องการสร้างให้ของดูมีคุณค่ามากขึ้น “โนเนม” ก็เหมือนกับแบรนด์ใหญ่คือ มีของดีก่อน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ การรักษาคุณภาพให้ดีต่อเนื่อง และขายในปริมาณที่จำกัด เพราะให้ผลิตมากกว่านี้ไม่ไหว ให้ขยายก็กลัวคุมคุณภาพไม่ได้ มันคือความตั้งใจขายของดีจริงๆ ไม่ได้มุ่งทำยอดขายขนาดนั้น

2.ของดีจริงไม่ต้องยัดเยียด แต่ผู้บริโภคต่างหากที่จะต้องวิ่งเข้าหา ขณะที่หลายๆ แบรนด์ใหญ่ยังชอบยัดเยียดให้ผู้บริโภค ไปไหนต้องเห็น และต้องได้ยินชื่อแบรนด์ ยึดติดกับความเชื่อที่ว่า เมื่อรู้จักชื่อแบรนด์ จำชื่อแบรนด์ได้แล้วจะนำไปสู่การซื้อ โดยอาจมองข้ามข้อเท็จจริงซ่อนเร้นว่าอะไรที่บ่อยไปหรือมากไป คนก็จะมองข้าม และไม่เห็นคุณค่า

3.ไม่ต้องผ่านคนกลาง เพราะหากเรามีของดี เราก็ขายตรงเองได้ ต้นทุนถูก แค่ขายของมีคุณภาพ คนกิน คนใช้ แล้วชอบก็บอกต่อกันเอง ไม่ต้องมีต้นทุนค่าทำการตลาดมากมาย เป็นผลดีทั้งกับคนซื้อ และคนขาย

4.การบอกต่อเป็นเรื่องง่าย เมื่อมีโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนการบอกต่อคืออัตรา 1:1 แต่ในปัจจุบันแทบจะเป็น 1: 1,000 หรือ 1: 10,000 ด้วยซ้ำ

5.ระบบการขนส่งที่รวดเร็ว ฉับพลันในราคาที่จ่ายได้สบายกระเป๋า

6.ตระหนักอยู่เสมอว่าผู้บริโภคชอบอะไรที่ personalize และ unique ต้องเป็นอะไรที่เหมาะกับตัวเราคนเดียว ไม่ใช่เหมาะกับทุกคน

การที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รักเหมือนอดีต กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนแบรนด์ออกสินค้ามาชิ้นหนึ่ง ทำให้ชีวิตผู้บริโภคดีขึ้น ผู้บริโภคก็รัก และชื่นชมแบรนด์ และกว่าจะมีคู่แข่งตามทันก็ต้องใช้เวลา แต่สมัยนี้ทุกอย่างรวดเร็วจนมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมันทำให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งเหล่านี้จนเคยชิน ไม่ได้มีความรู้สึกตื่นเต้นหรือชื่นชมแบรนด์ และที่สำคัญคือ ไม่ได้เห็นความแตกต่างของแต่ละแบรนด์อีกต่อไป 

จากการศึกษาพบว่าในบรรดาแบรนด์ระดับโลกที่เป็น ท็อป100 นั้น 90% ประสบปัญหาแบรนด์แชร์ลดลง มีเพียง 10% เท่านั้นที่ปรับตัวทัน และฝ่าฟันมาได้

ถือว่าเป็นยุคทองของสินค้าโนเนมจริงๆ กับการเปิดโอกาสให้แบรนด์โนเนมที่เน้นขายของดีผงาดขึ้นมาได้ 

ดังนั้นเหล่าแบรนด์เนมก็ต้องหันมาดูบริบทโดยรอบ เพื่อจะได้พบว่ามีธุรกิจหรือสินค้าที่เกิดใหม่ขึ้นอย่างมากมาย และคำว่า “คู่แข่ง” ก็ไม่ใช่แบรนด์ระดับเดียวกันอีกต่อไป แต่จะเป็นแบรนด์ที่เป็นม้ามืดจากไหนก็ไม่รู้ ตราบใดที่เขาคุณภาพดีกว่า และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เหนือกว่าก็จะค่อยๆ กัดกินแบรนด์แชร์ของเราออกไป 

เวลาโดนคำถามว่า ทำไมถึงใช้แบรนด์นี้ ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า เพราะของเขาดีจริง ดังนั้นทุกอย่างกลับมาที่การมีของดี อย่าหลงไปกับกระแสโซเชียลมีเดียมากไป เพราะการที่เราลงสื่อเยอะแล้วเสียงเราดังไม่ได้แปลว่าเราจะขายของได้ แต่การที่ของเราดี สุดท้ายแล้วอย่างไรก็ดัง 

ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ ก็ขอให้มุ่งมั่นผลิตของดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภค และสังคมกันต่อไป