"คนไทยต้องแสดงความกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

"คนไทยต้องแสดงความกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งความโศกเศร้าในจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องร่วมกันถวายความเคารพและแสดงความอาลัย

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่ได้พร้อมใจกันไว้ทุกข์และเข้าถวายสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทำให้ได้รับรู้ถึงพลังความรัก ความเทิดทูน และความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9

ความเศร้าโศกนี้จะต้องไม่ทำให้คนไทยสูญเสียความหวังและแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวต่อไปตามพระราชปณิธาน ปรัชญา แนวคิด และพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนวิถีของการเติบโตอย่างยั่งยืน

เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ได้รับพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อัญเชิญพระราชดำรัสที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2556 จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “ขัตติยะธรรมราชา” โดยเผยแพร่พระราชดำรัสเต็มองค์เพื่อให้ตระหนักในพระปรีชาสามารถและเข้าใจในปรัชญาอันทรงคุณค่าของพระองค์ หากคนไทยทุกคนปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรัส ประชาชนชาวไทยก็จะดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง สุขสงบและร่มเย็น ขณะที่ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ท้ายสุดของความเป็นประเทศและความเป็นสังคม

พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้อ่านและมีความประทับใจมากก็คือ พระราชดำรัส ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2534

“...ทุกๆสิ่งมีชีวิต และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีชีวิต ระเบียบการอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าเปลี่ยนกันโดยวิธีพูดกันรู้เรื่อง คือ เจรจากันอย่างถูกหลักวิชาที่แท้ ที่สูงกว่าหลักวิชาในตำรา ก็จะหมดปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปแล้ว ก็เปลี่ยนอย่างตายตัวไปเลย เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย ก็เปลี่ยนต่อไปได้ โดยไม่ต้องทะเลาะกันอย่างหนัก จนกระทั่งทำให้เสียหาย จนทำให้ประเทศไทยกลับไปเป็นประเทศล้าหลัง...

(หนังสือ “ขัตติยะธรรมราชา พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ปี 2525-2556) ” หน้า 104-105, สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย)

ผู้เขียนเห็นว่า พระองค์ได้พระราชทานข้อคิดที่สำคัญหลายด้านเกี่ยวกับความเป็นประเทศ การเปลี่ยนแปลงเพื่อส่วนรวม หน้าที่ของประชาชนในฐานะพลเมือง และความสำคัญของการใช้เหตุผลและสติปัญญาในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ

  1. เมื่อประเทศเป็นสิ่งมีชีวิต ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติมีการเติบโต มีการเสื่อมโทรม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง หากเกิดจากความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตหรือเป็นประเทศ ซึ่งก็คือ คน สถาบัน (Institutions)ที่เป็นองค์กรหรือระบบต่างๆรวมคนเข้ามาทำหน้าที่ และกติกาหรือระเบียบของการอยู่ร่วมกัน เปรียบเหมือนเซลล์หรือส่วนต่างๆ ในร่างกายมนุษย์มีความเข้มแข็ง สุขภาพและชีวิตมนุษย์ก็จะเข้มแข็งและเติบโต ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองในประเทศที่ต้องบำรุงรักษาองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อให้ประเทศมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ล่มสลาย

คนเข้มแข็ง หมายถึง ประเทศต้องมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี ถ้าประเทศมีคนไม่ดีมาก เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์ที่มีเซลล์ไม่ดีมาก ร่างกายก็จะเสื่อมโทรม สุดท้ายก็เป็นอันตรายถึงชีวิต ประเทศก็เหมือนกัน ถ้าประเทศมีคนไม่ดีมาก ก็จะเป็นภัยต่อชีวิตของประเทศ ทำให้ประเทศเสื่อมโทรมอาจถึงขั้นวิกฤติ จำนวนคนดีและไม่ดีในสังคมนั้นคงเติบโตตามการเติบโตของประชากร 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนดีที่ต้องทำให้คนไม่ดีมีน้อยลง ด้วยการปรับคนไม่ดีให้เป็นคนดี การไม่ทำลายคนดี และป้องกันหรือไม่สร้างเงื่อนไขให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี ต้องช่วยเหลือแบ่งปัน ให้ความรู้ ให้การศึกษา ชี้แนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้คนไม่ดีสามารถเป็นคนดีได้ และคนดีไม่ถูกบีบคั้น เอารัดเอาเปรียบ จนกลายเป็นคนไม่ดี ในลักษณะนี้ การเป็นคนดีและสร้างคนดีให้มีความเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อความไม่ดีต่างๆ พร้อมมีจิตใจสนับสนุนการเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น จึงสำคัญมากต่อการสร้างประเทศและสังคมให้เข้มแข็ง และประเทศมีชีวิตที่ยั่งยืน

  1. กฎระเบียบต่างๆที่นิยามการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์เพื่อให้ประเทศสามารถมีชีวิตต่อไปได้ เปรียบเหมือนร่างกาย เมื่อเสื่อมโทรมก็ต้องมีวิธีซ่อมแซมแก้ไข เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานและมีชีวิตต่อไปได้ การเปลี่ยนแปลงคือ การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยมีหรือความสุขที่เคยมี ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว แต่เปลี่ยนเพื่อให้ส่วนรวมหรือประเทศสามารถอยู่ต่อไปได้ หลักง่ายๆ จากข้อคิดนี้ก็คือ อะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อส่วนรวม ก็ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นการมองภาพระยะยาวของการมีชีวิตอยู่ต่อไปของประเทศมากกว่าความพึงพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ได้สร้างปัญหาและกำลังเป็นภัยต่อชีวิตของประเทศ
  2. การใช้เหตุผลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถ้าคนในประเทศสามารถพูดกันรู้เรื่องโดยใช้เหตุผลตามหลักวิชาที่แท้ หรือทำได้สูงกว่าในตำรา ปัญหาต่างๆก็จะหมดไป การเปลี่ยนแปลงที่ควรเกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาหรือซ่อมแซมจุดเปราะบางต่างๆ ในร่างกายประเทศ เพื่อให้ทั้งประเทศมีชีวิตต่อไปได้ 

แต่ถ้าไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้หลักวิชา มุ่งแต่จะรักษาประโยชน์ตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย โดยไม่ได้ดูว่าประเทศมีปัญหาที่ต้องแก้ไข การทะเลาะกันอย่างหนักก็จะเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถของคนในประเทศที่มีอยู่แก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพราะไม่ได้อยู่กันด้วยเหตุผล ทำให้ประเทศเสียหาย ชีวิตของประเทศมีแต่จะเสื่อมโทรมหนักขึ้น ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ มีแต่จะถอยหลัง กลายเป็นประเทศล้าหลัง เป็นความเสียหายอย่างมากต่อคนในประเทศ

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่พร้อมใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา มีแต่จะยืนในประโยชน์ที่เคยมีของแต่ละฝ่าย มีผู้รู้ท่านหนึ่งได้เปรียบว่า คนไทยเคารพตัวบุคคลมากกว่าเหตุผล จึงไม่สามารถใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาได้ เพราะเลือกที่จะเชื่อในตัวบุคคลและเดินตามตัวบุคคลมากกว่าใช้เหตุผล ซึ่งสะท้อนความเข้มแข็งของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากในสังคมไทยมาช้านาน 

ดังนั้น ถ้าจะทำให้ประเทศมีชีวิตที่เติบโตยั่งยืนคนไทยในฐานะพลเมืองของประเทศก็มีหน้าที่ที่ต้องทำมากขึ้นในสามเรื่อง 1. เป็นคนดีที่ทำให้สังคมและคนรอบข้างดีขึ้น 2. ให้ความสำคัญกับส่วนรวมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศเพื่อรักษาประเทศอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ 

และ 3. รู้รักสามัคคี ร่วมกันใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา 

ถ้าทำได้ นั่นคือ การแสดงความกตัญญูและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน