ต้องแก้ที่สาเหตุใหญ่จึงจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล

ต้องแก้ที่สาเหตุใหญ่จึงจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล

การศึกษาไทยที่ล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ และปฏิรูปไม่ได้ผลทั้งระบบ เพราะรัฐบาล (ทุกรัฐบาล) ได้แต่แก้ตามอาการของปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องๆ ไป

ไม่เข้าใจปัญหาทั้งระบบและไม่เข้าใจว่าสาเหตุใหญ่ที่สุดอยู่ที่ไหน จะแก้ไขได้อย่างไร

สาเหตุใหญ่มาจากตัวรัฐบาลเองที่ยังคงยึดระบบการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง (รวมทั้งคณะกรรมการครูและเขตการศึกษา) ที่ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์มองไม่เห็นภาพใหญ่ ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการทุจริตฉ้อฉล แสวงหาผลประโยชน์ อำนาจ

ทางแก้ไขคือ ต้อง 1. ปรับรื้อถอนระบบบริหารงานการศึกษาอย่างขนานใหญ่ ให้เป็นการกระจายอำนาจแบบประชาธิปไตยเครือข่ายแนวราบ ที่ครู ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา สามารถตรวจสอบคานอำนาจผู้บริหารระดับต่างๆ โดยเฉพาะระดับครูใหญ่ ผู้อำนวยการ คณบดี อธิการบดี ฯลฯ ได้ 

ต้องมีคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษาที่ใช้คนน้อยทำงานเต็มเวลา มีอำนาจเต็มในการสอบสวนการร้องเรียนเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบของผู้บริหาร ครู อาจารย์ และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา รวดเร็ว กล้าฟันธงเปลี่ยนแปลงแบบปลด โยกย้ายคนที่ตำแหน่งสูงแต่ทุจริตฉ้อฉลหรือทำงานไม่เป็นออกไป และแสวงหาคนที่ซื่อตรงกว่า มีประสิทธิภาพกว่ามาทำงานแทน ถึงจะอาวุโสน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ควรประเมินผลงานครูอาจารย์ ข้าราชการกระทรวงศึกษาและสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงอื่นด้วยใหม่ทั้งหมด ใครได้คะแนนต่ำที่สุดในด้านความรู้ ความสามารถ ความขยัน ความตั้งใจ อุปนิสัยที่ไม่เหมาะกับการเป็นครูที่เก่งและดีพอควรให้เกษียณก่อนอายุ 60 ปี และรับสมัคร โอนย้าย คนเก่งๆ จากกระทรวงอื่น เช่น สาธารณสุข การคลัง ต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และคนมีประสบการณ์จากภาคธุรกิจเอกชน ภาคสังคมประชาสนใจเป็นครูอาจารย์ได้อย่างยืดหยุ่น เราจะได้บุคลากรที่หลากหลาย มีความคิดใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น 

การจะดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานด้านการศึกษาได้ต้องปรับเงินเดือนและเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นประชาธิปไตยแบบครูอาจารย์แต่ละคนมีอิสระและความรับผิดชอบในการทำงานส่วนร่วมตัดสินใจเพิ่มขึ้น

  1. การปฏิรูปครู การเรียน การสอน การสอบ ปฏิรูปการศึกษาอนุบาลทั่วประเทศให้มีคุณภาพเท่าโรงเรียนอนุบาลดีๆ ที่มีครูจบด้านอนุบาลโดยเฉพาะสอนแบบเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสมองของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กอยากรู้อยากเห็น รักการอ่าน อ่านได้ดี (ปฏิรูปการสอนภาษาไทยให้มีคุณภาพ) เด็กที่รักการอ่าน อยากรู้อยากเห็น จะเรียนรู้ได้ดีขึ้นในระดับชั้นที่สูงขึ้น

นักเรียนนักศึกษาไทยฉลาดคิดวิเคราะห์ได้ กล้าตั้งคำถามมากขึ้น จะทำให้ครูอาจารย์ที่ตอบคำถามเด็กไม่ค่อยได้ ต้องไปอ่านหนังสือ ศึกษาด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น การศึกษาไทยก็จะดีขึ้นตามมา

การปฏิรูปสถาบันฝึกหัดครูควรจัดตั้งองค์กรกลางที่สามารถประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง (ไม่ใช่ประเมินตามรายงานและการให้คะแนนประกันคุณภาพเชิงปริมาณ) ว่าคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ที่ไหนเข้มแข็งที่สุด แล้วจัดตั้งแบบควบรวมสถาบันฝึกหัดครูหลักเพียง 5 แห่ง คือในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ภาคละ 1 แห่ง แล้วขอโอนย้ายอาจารย์เก่งๆ จากสถาบันต่างๆ ให้มาร่วมกันทำงานที่สถาบัน 5 แห่งนี้ 

ที่ควรเปลี่ยนให้เป็นองค์กรอิสระนิติบุคคล (แบบโรงเรียนมหิดลอนุสรณ์) เพื่อทำให้การบริการคล่องตัว ทำงานได้มีประสิทธิภาพทั้งแง่การสอน และการวิจัยเรื่องประสิทธิภาพการเรียนการสอน ซึ่งเรายังขาดอยู่มาก 

การมีสถาบันฝึกหัดครูชั้นเยี่ยมเพียงน้อยแห่ง คัดเลือกนักศึกษาเก่งๆ จำนวนที่เหมาะสม มีทุนและการรับประกันการทำงานให้ (เพื่อชดใช้ทุนแบบเดียวกับนักศึกษาแพทย์) จะสร้างครูที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าระบบเดิม

ครูที่ทำงานอยู่เดิมก็ควรมีการทดสอบประเมินผลความเอาใจใส่ความรู้ความสามารถการทำงานและที่มีคุณภาพประสิทธิภาพ เลิกวิธีการขอวิทยฐานะแบบเขียนรายงานส่ง ซึ่งไม่ได้วัดอะไรได้อย่างแท้จริง ครูที่เก่งทำงานดี ตั้งใจทำงาน ควรส่งเสริมจัดการฝึกอบรมให้ทุนไปศึกษาต่อ และส่งเสริมพัฒนาให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อให้ครูทำงานได้กว้างขวางและพัฒนาตนเองได้เพิ่มขึ้น

ครูที่สอนเก่งสามารถเลื่อนขั้นสูงเป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารเสมอไป ครูที่มีผลงานปานกลางก็ต้องพยายามให้การศึกษาใหม่ ส่วนครูระดับที่ไม่มีความรู้ ความเอาใจใส่ สอนไม่เก่ง ไม่ตั้งใจเรียนรู้ มีปัญหาต่างๆ ควรเลิกจ้าง ให้เกษียณแบบภาคบังคับ โดยจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานหรือถ้าบางคนอายุยังน้อยและพอทำงานอย่างอื่นเช่น งานธุรการ งานสนับสนุนการสอนได้ก็ให้โยกย้ายไปทำงานนั้น เพื่อจะได้จ้างครูอาจารย์ใหม่ที่เก่งกว่า ดีกว่ามาทดแทน

ปัญหาสำคัญที่ต้องปฏิรูปคู่กันไปคือเรื่องการสอบวัดผล รวมทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเก่าที่ยังเน้นการสอบปรนัยจดจำข้อมูลอยู่ ทำให้ครูสอนแบบบรรยายนักเรียนเพื่อสอบ ต้องปฏิรูปใหม่ให้เป็นการเรียนและวัดผลเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้ ทักษะแบบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ มีความฉลาดทางอารมณ์และจิตสำนึกเพื่อสังคมด้วย 

ตัวอย่างข้อสอบตามโครงการ PISA ของกลุ่ม OECD แม้จะเป็นปรนัยแต่มีการออกข้อสอบอย่างดี ที่นักเรียนต้องอ่านข้อสอบเป็น รู้จักใช้การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วย จึงจะตอบได้ การสอบวัดผลชั้นมัธยมปลาย A Level ของอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้คะแนนเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณารับรักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ก็สอบแบบอัตนัย เขาไม่สอบแค่ทั้งประเทศเท่านั้น แต่สอบในโรงเรียนนานาชาติทั่วโลก และมีการวางระบบการตรวจให้คะแนนกันอย่างมีมาตรฐานที่เป็นธรรมได้

การปฏิรูปการสอบชั้นมัธยมปลายที่ได้มาตรฐานจะทำให้นักเรียนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องสอบหลายครั้ง ไม่ต้องมาเถียงกันว่าสอบตรงดีหรือไม่ดี นักเรียนสามารถใช้ผลการสอบเดิมและใบสมัครใบรับรองต่างๆ ส่งไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณาได้เพียงครั้งเดียว

เพื่อที่จะแก้ปัญหานักเรียนไทยมุ่งเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากเกินไปและมีคนจบมหาวิทยาลัยปริมาณมากแต่คุณภาพต่ำ ควรแก้ไขอย่างน้อย 2-3 อย่าง เช่น 1. ปฏิรูปการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา วิทยาลัยเทคนิคต่างๆ รวมทั้งเรื่องเกษตรให้มีคุณภาพ เน้นภาคปฏิบัติ เรียนแล้วมีความรู้ ทักษะฝีมือ ทำงานได้ดี เป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจเอกชนเหมือนในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ 

  1. พัฒนาการศึกษาผู้ใหญ่ในทุกระดับ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเปิดที่สอนทางไกลหรือสอนออนไลน์ให้มีคุณภาพ น่าสนใจที่จะเรียน สมัครเข้าเรียนได้ง่าย เสียค่าใช้จ่ายถูก เพื่อส่งเสริมให้คนมีโอกาสศึกษาได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่ต้องแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัยตอนจบมัธยมปลายครั้งเดียว

ส่วนมหาวิทยาลัยปิดก็ควรมีโควตารับผู้ใหญ่ทำงานแล้วมีประสบการณ์แล้วเข้ามาเรียนด้วย โดยไม่จำกัดอายุ และมีวิธีพิจารณาใบสมัครเป็นกรณีต่างหาก เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อยากเรียนจริงๆ ได้เรียน และทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศของความเป็นผู้ใหญ่ที่ตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้น