ความรักในความรู้

ความรักในความรู้

ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย ได้แก่ การศึกษาเป็นระบบการสอนหนังสือที่ปราศจาก “ความรักในความรู้” ซึ่งทำให้นักเรียน

ที่ผ่านการศึกษามาจนถึงระดับอุดมศึกษาไม่ได้มี “หัวใจ” ให้แก่การเรียนรู้เลยแม้แต่น้อย เมื่อมาถึงระดับอุดมศึกษาจึงยากมากที่จะปรับตัวเพื่อแสวงหาความรู้เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะ “รู้" ไปทำไม และลึกลงไปแล้วพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความรู้คืออะไร

ผมสอนวิชาพื้นฐาน ซึ่งเป็นชั้นเรียนขนาดใหญ่มาตลอดเวลา 30 ปี และพบว่าปัญหานักศึกษาที่ไม่สนใจจะ รู้อะไร นั้นเพิ่มเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นมากขึ้นทุกปี ที่ผมพบเช่นนี้ก็เพราะว่า วิชาพื้นฐานที่ผมสอนถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาได้เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะสามารถเข้าใจ “ตนเอง”ในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคมและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมไทย เราจึงสร้างการวัดผลครึ่งหนึ่งด้วยการทำรายงาน และนักศึกษาจะต้องมาคุยเรื่องหัวข้อรายงานกันครูผู้สอนก่อนที่จะลงมือทำรายงานจริง

ผมพบว่าในระยะหลังมานี้ นักศึกษามาพบและคุยหัวข้อรายงานด้วยความคิดเพียงระดับว่า สักแต่ว่าจะทำรายงานส่ง เท่านั้น หัวข้อหรือปัญญามักจะหยิบฉวยอย่าง มักง่าย มาจากประเด็นข่าว/การรับรู้/หรือการได้ยินอะไรเล็กๆ น้อยๆในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมมักจะบ่นพวกเขาว่าที่พวกคุณบอกมานี้เป็นคำถามแบบ “กะเพรา-ไข่ดาว" ซึ่งหมายถึง “สิ้นคิด” รวมทั้งจะกระแนะกระแหน่เชิงกดดันให้พวกเขารู้สึกว่าจะต้องอ่านและคิดเพิ่มให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ทางปัญญาของพวกเขาและประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ซึ่งผมพบว่าได้ผลไม่มากนัก และผมก็ประเมินเอาเองว่าในช่วงเวลา 1,400 วัน ในมหาวิทยาลัยของพวกเขาก็คงจะไม่ได้สร้างความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองสักเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดสำหรับคนเป็นครูและเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับสังคม

ผมสอบถามนักเรียนทุกปีที่ผ่านมาว่าเคยทำรายงานจริงๆบ้างไหม นักเรียนทั้งหมดตอบตรงกันว่าก่อนที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยไม่เคยพบกับการสอนให้มีคำถามเพื่อที่ตนเองจะแสวงหาคำตอบใดๆ รายงานในการศึกษาที่ผ่านมาก็เป็นเพียงการสั่งให้ทำรายงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยที่ไม่มีคำถามอะไร เช่น สั่งให้ทำรายงานเรื่องประเพณีของจังหวัด/หรืออำเภอ ซึ่งการสั่งหัวข้อรายงานโดยที่ไม่ได้เตรียมนักเรียนให้รู้ว่าคำถามในเรื่องนั้นๆ คืออะไร นักเรียนก็จะทำได้เพียง “คัดลอก” ข้อมูลเอามาเรียงๆ กันเป็นเล่มรายงานเท่านั้นเอง การตรวจรายงานก็จะให้คะแนนตรงรูปแบบเป็นหลัก (นักเรียนมาจากโรงเรียนที่หลากหลายทั่วประเทศครับ )

การศึกษาที่ปราศจาก ความรักในความรู้ ได้ขยายตัวลึกลงไปในสังคมมากขึ้นทุกวัน จนอาจจะกล่าวได้ว่านักเรียนที่ผ่านระบบนี้จะกลายเป็นคนที่ไม่สนใจที่จะรู้อะไรอีกแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาไทยจะเครียดก่อนสอบเพียงวันหรือสองวันเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี่พวกเขาไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับ “ความรู้" เลย ชีวิตในมหาวิทยาลัยจึงมีแต่ความสนุกสนานและไร้สาระความหมายยิ่งกว่าในยุค สามลมและแสงแดด เมื่อต้นทศวรรษ 2510 เสียอีก เพราะในสมัยนั้น ยังมีกิจกรรมงานด้านค่าย วรรณศิลป์ กีฬา ฯลฯ แต่วันนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว

สังคมไทยพูดกันเรื่อง การปฏิรูปการศึกษา มาเนิ่นนาน แต่สิ่งที่ทำกันทั้งหมดก็เป็นเพียงความพยายามจะสร้างกฎระเบียบที่เป็นมาตรวัดคุณภาพการศึกษาด้วยการทำเอกสารกระดาษ ซึ่งนอกจากจะไม่มีความหมายอะไรแล้ว ยังสิ้นเปลืองเวลาอย่างโง่เขลา ( ย้ำ อย่างโง่เขลา )

การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญ จะต้องมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิด สังคมรักความรู้ขึ้นมา ในแต่ละช่วงชั้นจะต้องทำให้นักเรียนสามารถมี คำถามที่ดีเหมาะสมเพื่อที่พวกเขาจะได้คิดแสวงหาทางในการตอบคำถามนั้นๆ “คำถาม” ที่ดีจะมีค่าทางปัญญามากกว่าการสอนแบบที่ไม่มีคำถามแต่มีคำตอบสำเร็จรูปเอาไว้แล้วแบบที่ใช้สอนอยู่ในปัจจุบัน ( ลองคิดถึงการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศตะวันตก เช่น ฟิสิกส์ ที่หนังสือเรียนจะแบ่งครึ่งหน้าในการอธิบายประเด็นปัญหาและการแก้ปัญหาจนเกิดสูตรหรือทฤษฏีขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่การบอกตัวสูตรหรือทฤษฏีเลยโดยไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปของการตั้งคำถามก่อนสรุปเป็นสูตรหรือทฤษฏี ) คำถามสำคัญกว่าคำตอบสำเร็จรูป เพราะคำถามคือเครื่องจักรกลของความฉลาด

การสอนให้ตั้ง “คำถาม” ที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะครูผู้สอนจะต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของกระบวนวิชานั้นๆ เพื่อที่จะชักจูงให้นักเรียนได้ค่อยๆ ไตร่ตรองถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อตอบคำถาม ผมอยากจะฝากครู/อาจารย์ทุกระดับว่าอย่าคิดอย่างมักง่ายว่าที่สอนกันมาก็มีการสอนคำถามอยู่แล้ว เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คำถามที่ถามนั้นไม่ได้เกิดการการเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของกระบวนวิชาและเป็นคำถามที่จริงๆ แล้วมีธงคำตอบอยู่แล้ว (น่าแปลกใจนะครับ คนสองกลุ่มที่ไม่ค่อยจะเข้าใจเรื่องการตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบ ได้แก่ ครูและพระ เพราะคนสองกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตนมีคำตอบที่ดีอยู่แล้ว คำถามจึงเป็นไปเพื่อยืนยันคำตอบที่ตนเอง เช่น หากถามถึงปัญหาเด็กแว้น ครูก็จะตอบทำนองว่าเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลา เด็กรับวัฒนธรรมตะวันตก หรือ ถามพระว่าปัญหาทางสังคมเกิดมากขึ้นเพราะอะไร ก็จะตอบว่าเพราะคนเรามีกิเลส เป็นต้น )

ผมไม่ค่อยมีหวังกับ การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังทำกันอยู่ เพราะมองไม่เห็นเลยว่าจะนำไปสู่การสร้าง "สังคมที่รักความรู้ได้อย่างไร ก็เพียงแต่หวังลึกๆ ว่านักเรียน นักศึกษาจะหวนมาคิดถึงความหมายแห่งความรักในความรู้กันเอง ซึ่งจะส่งผลผลักดันให้บรรดาครูทุกระดับต้องปรับตัวเองมากขึ้น