มี10 ล้านก่อนเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

มี10 ล้านก่อนเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

มี10 ล้านก่อนเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ช่วงนี้ภาวะการลงทุนเริ่มกลับมาคึกคักกันอีกครั้งหลังตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถทะลุ 1700 ไปได้ โดยสามารถดูจากมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมวันละประมาณ 3-4หมื่น ตอนนี้วันนึงๆ เกินกว่า 6หมื่นล้านบาท นั่นแสดงถึงการที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาซื้อขายกันมากขึ้นถึงวันละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาดต่างประเทศก็ยังคงสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความเรื่องลงทุนอย่างไรให้พอเกษียณ โดยสรุปก็คือเราควรมีเงินไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทเพี่อสามารถมีเงินใช้จ่ายอย่างน้อยวันละ 500 บาทหรือเดือนละ 15000 ไปอีก 30 ปี (โดยคิดว่าเรานำเงินไปลงทุนต่อในอัตราร้อยละ 2.5) พร้อมทั้งแสดงตัวเลขการออมในแต่ละเดือน คราวนี้ผมอยากขยายความเพิ่มเติม โดยตั้งโจทย์ว่าถ้าเราจะมีเงิน 10 ล้านบาท ก่อนเกษียณ (และโจทย์รองคือต้องไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท) เราควรจะวางแผนลงทุนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผมขอสมมติว่าเป็นการลงทุนแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนะครับ

สมมติว่าเราเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เรียนจบ เงินเดือนเริ่มต้นที่ 18000 บาทให้เงินเดือนเพิ่มปีละ 5 % โบนัสอีกปีละ 3 เดือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉลี่ยที่ 7% กรณีนี้ผมสมมติว่าไม่มีภาษีนะครับ แผนชีวิตก็คือแต่งงานตอนอายุ 33 มีลูกตอน 35 คนเดียว ทั้งคู่มีเงินเดือนเท่าๆกัน เริ่มมีบ้าน (คอนโด) ตอนแต่งงาน มูลค่า 4 ล้านบาท (ถ้าเป็นคอนโดก็ตารางเมตรละ 80000 * 50 ตรม)

แผนการลงทุนให้อยู่ที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้อย่างละครึ่ง ส่วนที่เหลือแบ่งลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF โดย LTF เป็นการลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว RMF ผมให้ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารประเภท REITs ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว สมมติให้หุ้นมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ที่ร้อยละ 7.5 ตราสารหนี้ ร้อยละ 4 และREITs ที่ร้อยละ 6 ครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่าก็เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้สำหรับพอร์ตการลงทุนในระยะยาว

ผมลองรันตัวเลขเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ 10 ล้านบาทนั้น นักลงทุนต้องเตรียมเงินสำหรับลงทุนในกองทุน LTF ปีละ 25000 บาท และ RMF 8000 บาท รวมเป็นเงินลงทุนต่อปี 33000 บาท หรือเดือนละ 2750 บาทโดยให้เริ่มลงทุนเมื่อตอนอายุ 30 ไปเรื่อยๆจนอายุ 60 โดยมีเงื่อนไขว่าเงินลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 5% ตามสมมติฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่นเมื่อตอนอายุ 40 เงินลงทุนก็จะเพิ่มเป็น LTF ปีละ 40722 บาท และ RMF 13021 บาท รวมเป็นเงินลงทุนต่อปี 53754 บาท หรือเดือนละ 4479 บาท และเมื่ออายุ 50 ปีเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น LTF ปีละ 66332 บาท และ RMF 21226 บาท รวมเป็นเงินลงทุนต่อปี 87559 บาท หรือเดือนละ 7297 บาท

สุดท้ายเมื่ออายุครบ 60 ที่เกษียณพอร์ตการลงทุนจะมีเงินเป็น 6113586 บาท ซึ่งยังไม่ใช่ 10 ล้านบาทดังเป้าหมาย แต่เมื่อเรารวมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เราได้ลงทุนเอาไว้ตามแผนการลงทุนแบบ 50/50 เงินกองทุนของเราจะมีค่าเป็น 5695585 บาท รวมเป็นเงินก่อนเกษียณทั้งสิ้น 11 ล้านกับอีก 8 แสนกว่าบาท เกินกว่าเป้าหมายที่เรากำหนดเอาไว้ประมาณ 10% นอกเหนือจากนั้นถ้าเราคิดเฉพาะเงินต้นของเงินลงทุนของเราจะได้ 5ล้าน 3 แสนกว่าบาท จากทั้งพอร์ต LTF/RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมากกว่า 4 ล้านตามเป้าหมายรองที่วางไว้ (หรือคิดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเป็น 0 ไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุน)

ดังนั้นเมื่อลงทุนตามแผนที่วางไว้เราก็สามารถมีเงิน 10 ล้านก่อนเกษียณได้ จุดที่ต้องระมัดระวังคือช่วงวัย 33-35 ซึ่งมันจะมีตัวแปรด้านรายจ่ายเพิ่มเข้ามา 2 ตัวตามสมมติฐานคือ เราซื้อบ้านเมื่อตอนแต่งงานอายุ 33 และมีลูก ตอนอายุ 35 ซึ่งถ้าเราใส่ตัวเลขบ้านไว้ที่ 4 ล้านจะมีค่าผ่อนบ้านเพิ่มอีกประมาณเดือนละ 25000 บาท หาร 2 จะแปลว่าเราต้องช่วยกันผ่อนประมาณเดือนละ 12500 บาท และเมื่อมีบุตรผมสมมติให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกประมาณเดือนละ 2000 บาท(และให้เพิ่มขึ้นปีละ 3 %) ซึ่งตอนแต่งงาน เงินเดือนตามแผนจะอยู่ที่ 30786 บาท เมื่อหักค่าผ่อนบ้าน และเมื่อเราหักเงินลงทุนที่ต้องการอีกเดือนละ 3183 บาท จะพบว่าเราต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ไม่เกินเดือนละ 15100 บาท หรือตกวันละ 500 บาทเศษๆ แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงสร้างเนื้อสร้างตัวนี้แล้วเมื่อรายได้ของเรามากขึ้นส่วนนี้ก็จะไม่เป็นภาระต่อเราอีกแถมยังมีเงินเหลือใช้พอให้เราไปใช้จ่ายด้านอื่นเพิ่มเติมได้อีก

เห็นมั้ยครับว่า ถ้าเรารู้จักวางแผนการลงทุน เราก็สามารถมีเงินเก็บตามแผนที่เราวางไว้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องกระเบียดกระเสียนจนเกินไป ยกเว้นในช่วงวัยสร้างครอบครัวที่เราต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีหรือหาทางสร้างรายได้อย่างอื่นเพิ่มเติม ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีในการลงทุนครับ