การร่วมจ่าย (Co -payment) ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2)***

การร่วมจ่าย (Co -payment) ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2)***

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ฟังนโยบายขึ้นทะเบียนคนจนจากรัฐมนตรีคลังเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนจน โดยการยกเลิกการช่วยแบบหว่านเงินให้ทุกคน

ได้รับสิทธิเหมือนกันหมดมาเป็นการพิจารณาเป็นรายๆ ไป นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

และที่สำคัญคือผู้ที่ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสวัสดิการจากรัฐตลอดไป แต่เขาเหล่านั้นต้องพยายามยกระดับความสามารถในการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้เพิ่มมากขึ้นด้วย และถ้าวันใดที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งแห่งความยากจนได้ รัฐก็จะลดเงินช่วยเหลือลงเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือคนที่ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เพิ่มขึ้น 

ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่ ณ วันนี้ไม่ได้ลงทะเบียนรับสวัสดิการรัฐเพราะไม่มีคุณสมบัติ แต่ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า เกิดความสูญเสียเสียหาย กลายเป็นคนที่ไม่มีรายได้ หรือมีไม่พอที่จะดูแลตนเอง เขาเหล่านั้นก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับสวัสดิการจากรัฐได้

การร่วมจ่าย (Co -payment) ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2)***

วิธีการบริหารจัดการเช่นนี้น่าจะสร้างความเสมอภาคและเป็นธรรมให้กับสังคมได้ดีกว่าการหว่านเงินให้ทุกคนในจำนวนเท่ากันหรือให้ทุกคนได้รับสวัสดิการเหมือนกันทั้งๆ ที่ฐานะทางครอบครัวต่างกัน เพราะวิธีการหว่านเงินอย่างไม่แยกแยะนี้ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมกันในทางสังคมอย่างเป็นธรรม คนรวยก็ขยับรวยขึ้น คนจนก็ยังมีช่วงห่างจากคนรวยเหมือนเดิม ความเหลื่อมล้ำไม่มีทางหมดไป

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะรัฐให้สวัสดิการรักษาพยาบาลทุกคนเท่ากันหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ฐานะดีก็ยิ่งดีขึ้นเพราะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ส่วนคนฐานะไม่ดี ถึงแม้ว่าจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีช่องว่างและความเหลื่อมล้ำเช่นเดิม แล้วอย่างนี้จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไร

ที่บอกว่าต่างสถานการณ์ต่างความคิดก็เพราะว่า รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มองประชาชนอย่างผู้มีศักยภาพ แต่มองว่าประชาชนมีเงินในกระเป๋าไม่เท่ากัน รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายประชานิยมเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน แต่นโยบายเช่นว่านั้นไม่ยั่งยืน เมื่อหมดเงินก็หมดอำนาจซื้อ เพราะอำนาจซื้อไม่ได้มาจากศักยภาพในการหาเงินจากความรู้ความสามารถของตนเอง เพียงแต่ยืมจมูกคนอื่นมาหายใจเป็นครั้งคราว

สภาวะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องของความบกพร่องของประชาชนเท่านั้น แต่อาจเกิดจากสถานการณ์ภายนอกที่พลิกผัน เหมือนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ทำให้ธุรกิจทั้งประเทศประสบปัญหาแบบโดมิโน และประชาชนในประเทศทั้งหมดก็เข้าสู่สภาวะยากลำบากกันโดยถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องในฐานะผู้สร้างวิกฤติหรือผู้รับผลกระทบจากวิกฤติ

แต่เมื่อวิกฤติคลี่คลาย ประเทศก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นจริง ที่ประชาชนจะต้องพยายามยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง หายใจด้วยจมูกของตนเอง

/////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: การร่วมจ่าย (Co -payment) ในประกันสุขภาพถ้วนหน้า (2) ต่างสถานการณ์ ต่างความคิด