อีคอมเมิร์ซไทยโตแค่ไหน?

อีคอมเมิร์ซไทยโตแค่ไหน?

ช่วงปีที่ผ่านมาการค้าขายบนโซเชียลมีเดียได้สร้างปรากฏการณ์สร้างพ่อค้า แม่ค้าหน้าใหม่ เข้าสู่วงการค้าขายออนไลน์กว่าหลายต่อหลายคน 

สถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า การขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียในหมวดการค้าปลีกมีมูลค่าสูงสุด แซงช่องทางดั้งเดิมอย่างเว็บไซต์ไปอย่างขาดลอย

ในแง่ของการแข่งขันภายในประเทศมีผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศบุกเข้ามาโกยยอดขายไปอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง อาลีบาบา ที่ทุ่มทุนซื้อกิจการ ลาซาด้า ที่ขยายธุรกิจไปในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน หรืออีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลี อย่าง อีเลฟเว่นสตรีทก็ได้บุกเข้ามาทำธุรกิจที่ไทย และมีข่าวมาว่า เจดีดอทคอม(JD.com ) จากจีนก็จะมาเปิดธุรกิจที่ไทย

เมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สพธอ.เผยตัวเลขสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์ด้านการค้าขายออนไลน์ได้เป็นอย่างดี โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้ มูลค่า อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเมื่อปี 2559 มี มูลค่ากว่า 2,560,103.36 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแบบบีทูบี มูลค่า 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24% ของมูลค่ารวม รองลงมาคือ แบบบีทูซี มูลค่า 703,331.91 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 27.47% ขณะที่ บีทูจี มีมูลค่า 314,603.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น12.29% สังเกตได้ว่าตัวเลขการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นจาก 10.41% ในปี 2558 เป็น 14.03% ในปี 2559

สำหรับตัวขับเคลื่อน หลักๆ มาจาก 3 ปัจจัยประกอบด้วย  1.จำนวนผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จาก ปี 2558 มีผู้ประกอบการจำนวน 527,324 ราย ปี 2559 เพิ่มเป็น 592,996 ราย คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 65,672 ราย หรือ 12.45%

ขณะที่ 2.การปรับตัวของผู้ประกอบการเข้าสู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น พยายามเรียนรู้และปรับตัวเพื่อเพิ่มยอดขาย เพิ่มช่องทางการขาย ทั้งมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ข้อ 3. ผู้ประกอบการสามารถขยายช่องทางการขายสินค้าและบริการออกสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีการค้าขายสินค้าและบริการ ไปยังภูมิภาคยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย

ทุกวันนี้อีคอมเมิร์ซประเทศไทยมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 1 (เฉพาะบีทูซี) ในภูมิภาคอาเซียน แต่ตัวเลขที่สวนทางคือ จำนวนยอดเงินที่ใช้จ่ายยังเป็นที่ 3 เมื่อ กล่าวคือ เป็นตลาดใหญ่ที่สุด แต่การซื้อสินค้าต่อหัวต่อคน ยังมีมูลค่าน้อยกว่า สิงคโปร์ และ มาเลเซีย

สำหรับความท้าทาย สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมควรทำความเข้าใจ คือ ตลาดมีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้เล่นต่างชาติยักษ์ใหญ่ และจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในตลาด แต่ขณะเดียวกันตลาดก็กำลังเติบโตและมีโอกาสที่น่าดึงดูด โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ

การมาของผู้เล่นต่างชาติ นอกจากข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสียคือ ผู้เล่นที่เป็นโลคอลต้องปรับตัวให้อยู่รอดในการแข่งขันอันรุนแรงนี้ รวมถึงภาครัฐควรออกมาตรการมาปกป้องธุรกิจของคนไทยด้วยกันเอง

ข่าวดีคือ มีระบบที่มาสนับสนุนมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินออนไลน์ การขนส่ง และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน หรือคนทำงานในวงการดิจิทัล ทางภาคการศึกษาทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ควรปรับปรุงและสร้างหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่ตลาดงานออนไลน์

ด้านภาครัฐควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มาสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น ความเร็ว และความครอบคลุมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

การแข่งขันนอกจากหน้าเว็บไซต์ที่สวย ราคาดึงดูดใจปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการขายสินค้าออนไลน์ คือ บริการหลังการขายผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์มีความคาดหวังเรื่องบริการหลังการขายที่เทียบเท่าหน้าร้านออฟไลน์