ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี วางแผนอย่างไรให้คุ้มที่สุด

ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี วางแผนอย่างไรให้คุ้มที่สุด

ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี วางแผนอย่างไรให้คุ้มที่สุด

ทุกครั้งที่ผมมีอันต้องนอนโรงพยาบาล จะเกิดความคิดขึ้นมาในหัวเสมอว่า “รู้งี้” จะไม่ทำสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งนี้ ที่เป็นสาเหตุทำให้ต้องป่วยคราวนี้ ถ้าจ่ายเงินหรือเอาอะไรคืนไปแล้วทำให้ไม่ป่วยแบบนี้ล่ะก็ ขอทำทุกอย่าง

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีความคิดนี้ยามป่วยแบบนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกคนรู้ครับ ว่าสุขภาพและชีวิตคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด จะมีเงินมากมายอย่างไรก็เปล่าประโยชน์ถ้าป่วยหนัก แต่แปลกที่ตอนสบายดีเรามักจะลืมความจริงข้อนี้ไป บางคนรักรถรักบ้าน ก็ทำประกันรถทำประกันบ้านไว้ แต่กลับไม่เคยคิดทำประกันสุขภาพทั้งๆ ที่ก็รักตัวเองด้วยเช่นกัน

ผมมีประกันสุขภาพตั้งแต่สมัยทำงานบริษัทที่อเมริกาโดยทางบริษัทซื้อให้ จนกลับมาเมืองไทยทำธุรกิจส่วนตัวก็ซื้อเอง การมีประกันสุขภาพมาตลอดทำให้ติดนิสัยอย่างหนึ่ง คือพอทำท่าจะป่วยนิดหน่อย ก็รีบเข้าโรงพยาบาลทันที ตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่เคยขาด ฉีดวัคซีนก็ครบทุกตัว ทำให้ผมไม่เคยป่วยใหญ่ๆ เลยสักครั้ง เพราะหากเริ่มรู้สึกไม่สบายและได้รับการรักษารวดเร็ว หรือตรวจพบความผิดปกติในร่างกายโดยที่เราอาจไม่ทันรู้สึก อาการจะไม่ลุกลามหนักกว่ากรณีได้รับการรักษาช้าแน่ๆ และแน่นอนว่าค่ารักษาและระยะเวลาในการรักษาตอนอาการหนักๆ ย่อมมากกว่า ซึ่งผลที่ได้นี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าทันที เพราะทำให้ผมเกิดนิสัย “ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้” กับเรื่องของสุขภาพเสมอ

การซื้อประกันสุขภาพให้กับบิดามารดานั้นลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว ซึ่งหลายคนที่คุณพ่อคุณแม่มีประกันสุขภาพต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเราจะมาดูแลท่าน ไม่ทราบว่าเพียงแค่ขอบริษัทประกันเปลี่ยนให้เราเป็นผู้จ่ายเบี้ย และออกใบเสร็จเป็นชื่อเรา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีของเราได้ โดยไม่ต้องยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์แต่อย่างใด

และสิ่งที่น่าดีใจในวันนี้ก็คือ การซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวเองกำลังจะถูกนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว! โดยสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท และรวมกันแล้วกับเบี้ยประกันชีวิตจะหักภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งใช้ได้กับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

แล้วถ้าจะซื้อทั้งที ต้องทำอย่างไรถึงจะคุ้มค่าเงินที่จ่ายไปที่สุด? คุณ ไอซ์ กษิดิศ สุวรรณอำไพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันจาก TQLD ได้เล่าให้ผมฟังถึงเทคนิค 3 ข้อ ที่จะทำให้การวางแผนประกันสุขภาพคุ้มค่าคือ

1. ประกันสุขภาพมี 2 ประเภท เลือกให้เหมาะ คือ (1) ประกันสุขภาพประเภทพ่วงกันกับประกันชีวิต หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Rider ซึ่งเหมาะกับผู้ต้องการทำประกันในระยะยาว เพราะอาจสามารถต่ออายุสัญญาของ Rider ไปกับสัญญาของประกันชีวิตที่พ่วงกันได้ ซึ่งประกันชีวิตจะใช้ลดหย่อนภาษีได้ต้องคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีอยู่แล้ว และ (2) ประกันสุขภาพประเภททำเดี่ยวๆ หรือที่เรียกว่าประกันสุขภาพแบบวินาศภัย ข้อดีคือมีความคล่องตัวในการทำและยกเลิก เหมาะกับการใช้จัดการความเสี่ยงในระยะสั้น จัดแพ็กเกจแยกเองได้ว่าความคุ้มครองแบบใดเลือกทำกับบริษัทใดหรือซื้อเท่าใด ส่วนข้อเสียคือเบี้ยประกันมีโอกาสปรับได้ทุกปี ขึ้นกับอายุ สุขภาพ และปัจจัยต่างๆ ในแต่ละปี หรืออาจไม่ได้รับการต่อสัญญาก็เป็นได้

2. ความคุ้มครองมีหลากหลาย เลือกที่จำเป็น ถ้ามีสวัสดิการจากที่ทำงานอยู่แล้ว ก็พิจารณาความคุ้มครองที่ขาดเป็นส่วนๆ ไป โดยความคุ้มครองหลักๆ จะมีค่ารักษาในโรงพยาบาลและศัลยกรรม (HS: Hospital & Surgical) ค่าชดเชยรายได้จากการรักษาตัวในโรงพยาบาล (HB: Hospital Benefits) โรคร้ายแรง (CI: Critical Illness) อุบัติเหตุ (PA: Personal Accident) กรณีทุพพลภาพ (AI: Accident Indemnity) และค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว

3. คำนวนค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประกันให้พอเหมาะ ไม่มากเกินกำลังและไม่น้อยจนใช้ประโยชน์ไม่พอ ตามหลักวางแผนการเงินเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพรวมกัน ควรอยู่ประมาณ 10-15% ของรายได้ในแต่ละปี โดยเราต้องตรวจสอบแผนการจ่ายเบี้ยด้วยว่าต้องจ่ายกี่ปี ปีละเท่าไร ซึ่งในแต่ละปีเบี้ยอาจไม่เท่ากัน

นโยบายที่สนับสนุนให้ “ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้” อย่างการลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพนี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมาก ผมนึกถึงอีกเรื่องที่สนับสนุนให้สุขภาพดี คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลยคิดเล่นๆ ว่าไหนๆ ก็มีลดหย่อนบริจาคเพื่อการกีฬาแล้ว ถ้าต่อไปจะมีนโยบายลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพก็คงจะดีนะครับ