"ดาต้า" ปัจจัยการผลิตใหม่ของทุกธุรกิจ

"ดาต้า" ปัจจัยการผลิตใหม่ของทุกธุรกิจ

ทุกวันนี้คำว่า 4.0 แทบจะแทรกอยู่ทุกที่ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจดิจิทัลก็เติบโตขึ้นทุกวัน

บริษัทที่ต้องการจะรักษาหรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันต่างต้องลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ๆ โดยมีเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ และตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่เราเรียกกันว่า “ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด” หรือ ดิจิทัล เนทีฟ (Digital Native)

ทั้งนี้ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสามารถทำได้โดย 1.ทรานส์ฟอร์มเหล่าผู้นำองค์กร 2.ทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ที่มอบให้กับลูกค้า 3.ทรานส์ฟอร์มวิถีปฏิบัติงาน 4.ทรานฟอร์มพนักงาน และ 5.ทรานฟอร์มการใช้ดาต้า

หากลองมามองที่ “ดาต้า” จะเห็นได้ว่า ดาต้ากลายเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตสำคัญในยุคดิจิทัล และเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากปัจจัยการผลิตแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง คือ ดาต้าใช้แล้วไม่หมดไปแต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้บริษัทที่สามารถนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ 

สำหรับการเริ่มต้น ควรเริ่มจากการวางกลยุทธ์และโรดแมพที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและนำดาต้าไปใช้ก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่าดาต้าชุดใดหรือประเภทใดจำเป็นต้องใช้ และชุดใดหรือประเภทใดไม่มีประโยชน์ ซึ่งเริ่มจากการประเมินดาต้าภายในก่อน หากไม่มีหรือมีไม่พอ ก็ต้องพยายามหาวิธีในการเก็บดาต้าเพิ่ม แล้วจึงหันไปมองดาต้าจากภายนอกถ้าจำเป็น

เมื่อมีดาต้าที่ต้องการครบแล้ว ขั้นตอนสำคัญถัดมาคือการนำดาต้าเหล่านั้นไปใช้จริง ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นหรือปรับปรุงสินค้าและบริการ เช่น สร้างเป็น Connected Product/Service ขึ้นมา ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจต่าง ๆ 

หรือแม้กระทั่งคิดค้นรูปแบบธุรกิจและแหล่งรายได้ใหม่ เช่น จากเดิมที่บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าเท่ากัน ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการสร้างรายได้เป็นการเรียกเก็บเงินตามปริมาณการใช้งานได้

ณ จุดนี้ วัฒนธรรมองค์กรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก เพราะพนักงานในองค์กรจะต้องทำการตัดสินใจต่าง ๆ โดยมีดาต้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่พิจารณา พนักงานจำเป็นต้องเข้าใจว่า ดาต้าไม่ได้เข้ามาแทนที่ “ความสามารถ” และ “ประสบการณ์” ของตน แต่ดาต้าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมให้ตนใช้ประโยชน์จากความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาได้จนเกิดประโยชน์ที่สุด 

บ่อยครั้งที่ดาต้าช่วยเปิดเผยสิ่งที่เราไม่เคยรู้หรือไม่เคยสนใจมาก่อน และบ่อยครั้งที่ดาต้าช่วยยืนยันว่าสิ่งที่เรารู้นั้นถูกต้องแล้ว โดยทุกแผนกขององค์กรล้วนแล้วสามารถนำดาต้าไปใช้ประโยชน์หรือประกอบการตัดสินใจได้ทั้งนั้น