การร่วมจ่าย (Co-payment) ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1)***

การร่วมจ่าย (Co-payment) ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1)***

ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลรัฐขาดทุน ดูจะยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ต่างกับโรงพยาบาลเอกชนที่นอกจากจะไม่ขาดทุนแล้วยังสร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ

ตั้งแต่ระดับ 10 หรือ 100 ล้านเป็นหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ถ้าจะพูดถึงคุณสมบัติของแพทย์พยาบาลแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะไม่ต่างกันมากนัก เพราะต่างก็มีแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ระดับวิชาชีพที่ผ่านมาตรฐานการศึกษาและการฝึกอบรมมาเหมือนๆ กัน ถ้าเปรียบเป็นทักษะ หรือด้าน software แล้ว ไม่เหนือกว่ากันแน่นอน

การร่วมจ่าย (Co-payment) ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1)***

แต่เมื่อมองถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็น Hardware เช่นวัสดุ อุปกรณ์ ทางการแพทย์ เครื่องมือหัตถการ เครื่องมือแพทย์ ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการผู้ป่วย ผู้มาพบแพทย์ มารับบริการทางการแพทย์ ตลอดจนอาคารสถานที่ ก็จะพบว่า โรงพยาบาลรัฐดูจะถูกทิ้งห่างจากโรงพยาบาลเอกชนอย่างมาก

ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนดูแลผู้ใช้บริการปีละ 10 ล้านคน แต่โรงพยาบาลรัฐต้องดูแลประชาชนหลาย 10 ล้านคน คำตอบคงไม่มีอะไรมากกว่าการขาดแคลนงบประมาณ เพราะโรงพยาบาลรัฐถูกบังคับให้บริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมายาวนานกว่า 10 ปี เป็นการขาดทุนสะสมที่นับวันจะยิ่งพอกพูนเหมือนดินพอหางหมูเข้าทุกที เป็นสภาวะเตี้ยอุ้มค่อม

ในระบบประกันสุขภาพ มีความหลากหลายที่หลายอย่างไม่ใช่ผลโดยตรง แต่เป็นผลทางอ้อม เช่นที่สหรัฐ ประชาชนทั่วไปมักทำประกันสุขภาพตามฐานะเศรษฐกิจของแต่ละคน บริษัทประกันสุขภาพก็พยายามออกแบบกรมธรรม์ที่หลากหลายแตกต่างกัน

หนึ่งในรูปแบบกรมธรรม์ประกันสุขภาพคือโครงการลดค่าลดหย่อนเบี้ยประกันที่เรียกว่า Deductible Plan โดยหลักการก็คือ ถ้าผู้เอาประกันไม่เคยยื่นขอรับเงินชดเชย หรือขอชดเชยต่ำกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในแผน การทำประกันปีต่อไปเบี้ยประกันก็จะถูกลง

บ้านเราก็มีกรมธรรม์แบบนี้ ที่บ้านก็ทำประกันสุขภาพกับบริษัทจากต่างประเทศแห่งหนึ่งที่มาให้บริการในประเทศไทยหลายปีแล้ว มีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่มีการเรียกให้ชดเชยประกันทั้งปีที่ผ่านมา เบี้ยประกันปีต่อไปจะลดให้ 10%

ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญเรื่องเบี้ยประกันมากเพราะทำประกันยิ่งครอบคลุมมากยิ่งสูงมาก ก็เลยพยายามไม่ร้องขอเงินชดเชยจากบริษัทประกัน ถ้าไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง หรือเป็นโรคภัยไข้เจ็บเล็กๆ น้อยๆ ต่างจากบ้านเราที่มีประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประกัน เจ็บป่วยนิดหน่อยก็หาหมอโรงพยาบาลรัฐ ได้ยามาเป็นถุงๆ กินไม่หมดก็ไม่เป็นไร ไม่ได้จ่ายเงินค่ายาค่าหมอ

แต่ที่โน่น ถ้าหากเรียกร้องเงินชดเชยถึงวงเงินที่กำหนดเช่นไม่เกิน 3,000, 5,000, 10,000 หรือ 12,000 เหรียญ ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เบี้ยประกันปีต่อไปก็จะไม่มีส่วนลด (deductible) ผู้ทำประกันสุขภาพแบบนี้ จึงไม่พยายามไปหาหมอ หรือไปหาก็จ่ายเองไม่เรียกเงินชดเชยจากบริษัทประกัน ผลก็คือสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่มีประกันจะมีจำนวนคนไข้น้อย ไม่คลาคล่ำ เพราะมีเฉพาะผู้ที่ต้องรักษากันจริงๆ จังๆ เท่านั้น เท่ากับเป็นการลดจำนวนผู้ไปพบแพทย์ไปในตัว

 /////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: การร่วมจ่าย (Co-payment) ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1) ร่วมจ่าย ร่วมรับผิดชอบ