‘ไคย่า เกอร์เบอร์’และโลกของโมเดลลิ่งหมื่นล้าน

‘ไคย่า เกอร์เบอร์’และโลกของโมเดลลิ่งหมื่นล้าน

‘นางแบบ’เป็นอาชีพที่สาวๆทั่วโลกใฝ่ฝันอยากจะเป็นอยู่เสมอ นอกจากจะได้แต่งตัวสวยๆเดินบนรันเวย์แล้ว รายได้ยังมากพอขนาดเปลี่ยนชีวิตได้ทีเดียว

ถ้าถามท่านผู้อ่านในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นางแบบที่มาแรงที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้น’เคนดัล เจนเนอร์(Kendall Jenner)พร้อมกับเพื่อนๆของเธอนั่นคือพี่น้องเบลล่าและจีจี้ ฮาดิด(Bella and Gigi Hadid)เป็นแน่ แต่ตอนนี้คำตอบเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ’ไคย่า เกอร์เบอร์(Kaia Gerber)’ลูกสาวคนสวยวัย16ปีของซุปเปอร์โมเดลในตำนาน’ซินดี้ ครอว์ฟอร์ด(Cindy Crawford)’ก้าวสู่วงการแฟชั่นด้วยการเดินแบบให้กับคาลวิน ไคลน์(Calvin Klein)ที่นิวยอร์ค แฟชั่น วีคเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และฮือฮาด้วยการเดินเปิดโชว์ให้กับสุดยอดแบรนด์ชั้นสูงอย่างชาแนล(Chanel) ตอกย้ำตำแหน่งดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตาที่สุดของโลกแฟชั่นในตอนนี้ไปโดยปริยาย ภายใต้สังกัดเอเจนซี่รายใหญ่’ไอเอ็มจี โมเดลส์(IMG Models)’  และใช่ว่าเธอจะใหม่กับเรื่องนี้ ตอนอายุ10ปีก็เริ่มถ่ายแบบให้กับ’เวอร์ซาเช่(Versace)’และ ขึ้นปกโว้ก ฝรั่งเศสพร้อมกับซินดี้ ตอนอายุ14ปีเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่เด็กสาวแรกรุ่นทั้งหลายจะอยากเป็นแบบเธอและนางแบบวัยรุ่นคนดังทั้งหลาย เพราะถ้าดังขึ้นมาก็จะสามารถสร้างโอกาสและรายได้ก้อนใหญ่จากการเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ หากพิจารณารายได้ของบริษัทโมเดลเอเจนซี่เหล่านี้จากข้อมูลของ’ไอบีไอเอส เวิร์ลด์(IBIS World)’บริษัทข้อมูลการตลาดระดับโลก พบว่ารายได้ของอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตแม้ว่าจะไม่หวือหวาเท่าไหร่ในช่วง5ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณา(Advertising Expenditures)ขององค์กรต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป โดยรายได้ที่เติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมาอย่างสื่อดิจิตอลเติบโตเหลือ8เปอร์เซ็นต์ในปี2016 เมื่อเทียบกับปี2015ที่โตถึง 15 เปอร์เซ็นต์ คาดว่ารายได้รวมสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เอเจนซี่เหล่านี้จะได้รายได้จากส่วนแบ่งค่าตัวนางแบบ ค่าธรรมเนียมในการจองตัวนางแบบสำหรับการถ่ายงานออกสื่อทุกประเภททั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งค่าเฉลี่ยของมาร์จิ้นที่เอเจนซี่จะได้รับคือ 30 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น บรรดาเอเจนซี่จึงเริ่มลดราคาค่าธรรมเนียมต่างๆลงมาเพื่อใช้จูงใจลูกค้าให้เลือกใช้นางแบบของตน วิธีการคิดเงินก็จะแตกต่างกันออกไป บางรายอาจคิดเงินเป็นรายชั่วโมง(Hourly Pricing) ถ้างานถ่ายแบบหรือโฆษณาใช้เวลานานก็จะได้เงินมากหน่อย ถ้าใช้เวลาน้อยก็จะได้น้อย แต่ก็อาจจะรับได้หลายงานต่อวัน

ขณะที่บางรายคิดเหมารวมเป็นโปรเจคต์ไป(Project-Based Pricing)ซึ่งเอเจนซี่จะคิดออกมาเสร็จสรรพว่าทั้งแคมเปญที่แบรนด์ติดต่อเข้ามาน่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ บวกกับส่วนต่างที่คิดเผื่อเข้าไป และเสนอราคารวมเป็นตัวเลขเดียว โดยปกติจะต้องชำระเงินให้เอเจนซี่จำนวน25ถึง50เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็จะจ่ายที่เหลือให้เมื่อส่งมอบงานเสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้บางกรณีเอเจนซี่ที่เก๋าเกม มีนางแบบดังในสังกัดมาก อาจใช้วิธีคิดราคาจากมูลค่าของงาน(Value-based Pricing)โดยทำงานร่วมกันกับแบรนด์และมีข้อตกลงโดยพิจารณาผลลัพธ์ของแคมเปญนั้นๆ เช่น การเข้าชมสื่อชิ้นนั้น การพูดถึงของผู้บริโภค หรือกระทั่งความสำเร็จจากยอดขายก็ตาม ซึ่งลูกค้าจะไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มกับยอดขายและเอเจนซี่เองถ้าทำงานออกมาประสบความสำเร็จก็จะได้ผลตอบแทนดีไปด้วย

จะโลกของนางแบบหรือโลกของใครก็ตาม ก็หนีไม่พ้นการเสนอซื้อ เสนอขาย ข้อตกลง ราคา และความพึงพอใจของลูกค้า ของดียังไงคนก็ซื้อซ้ำ ของไม่ดีซื้อครั้งเดียวก็เกินพอ