นวัตกรรมการเงินตอบโจทย์สังคมสูงอายุ

นวัตกรรมการเงินตอบโจทย์สังคมสูงอายุ

นวัตกรรมการเงินตอบโจทย์สังคมสูงอายุ

สวัสดีครับ

ผมได้พูดถึงบริบทสังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่นและการก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ของไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าในบทความที่แล้วของผมนะครับ ในความคิดของผมนั้น แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุแล้วก็ตาม เราควรเดินตามคำสอนพระพุทธองค์ในเรื่อง “ความไม่ประมาท” และ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ครับ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพทางการเงินที่เข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข 

แวดวงการเงินไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มมีการนำเสนอนวัตกรรมการเงินเพื่อผู้สูงวัยที่หลากหลาย ทั้งในรูปเงินออมปลอดภาษีและดอกเบี้ยสูงสำหรับผู้สูงวัย สถาบันการเงินบางแห่งได้พัฒนาบริการทางการเงิน เช่น “ธนาคารผู้สูงอายุ” ที่มีบริการให้สินเชื่อและรับฝากเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บริการเงินฝากเผื่อเรียกเพื่อผู้สูงวัย และบัญชีเงินฝากที่มีประกันอุบัติเหตุคุ้มครองและสามารถเลือกรับให้โอนดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุกเดือน 

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินต่างๆ มากมายที่ภาครัฐช่วยสนับสนุนให้การเก็บออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณทำได้ง่ายขึ้น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีการประกันชีวิตเพื่อชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุข อย่างเช่น ชำระเบี้ยประกันถึงอายุ 60 ปีและรับผลประโยชน์นานถึงอายุ 90 ปี นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินและได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย

นอกเหนือจากการสะสมเงินออมในรูปแบบต่างๆ แล้ว สำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองสามารถกู้เงินจากธนาคารโดยนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า Reverse Mortgage วิธีนี้เป็นการแปลงอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นทุนสำหรับใช้ในยามเกษียณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ หรืออาจจะกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่ารักษา พยาบาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องขายอสังหาริมทรัพย์ และหากผู้กู้เสียชีวิตลง ธนาคารสามารถนำไปขายทอดตลาดหรือให้สิทธิ์ทายาทไถ่ถอนได้ นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุ แต่แน่นอนครับ เราคงต้องเตรียมตัวซื้ออสังหาริมทรัพย์ยามมีกำลังก่อน ถึงจะสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศนำ Reverse Mortgage มาใช้ในการเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุและค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ แต่ในบางประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่น อาจประสบผลสำเร็จไม่มาก ขึ้นอยู่กับรูปแบบเงื่อนไขและความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการเงินถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญให้ภาคการเงินสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการเงิน อาทิ การทำธุรกรรมการเงินผ่านทาง Mobile Application ทำให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาที่ธนาคาร ที่สำคัญคือการเก็บรักษา username และ password หรือ รหัส PIN ต่างๆ ที่ต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและระมัดระวังให้ดีด้วยครับ

แม้ว่าจะมีการตื่นตัวในเรื่องสังคมผู้สูงอายุในหลายภาคส่วน โดยภาพรวมแล้ว สังคมไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ เนื่องจากการออมยังอยู่ในระดับต่ำและคนส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ที่จะช่วยสร้างรายได้แบบ passive income อีกทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสวัสดิการของรัฐที่อาจไม่เพียงพอ 

ดังนั้น การวางแผนการเงินที่ดี การเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ และการลงทุนอย่างรอบคอบในวัยทำงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาวและช่วยให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในวัยเกษียณครับ