ตลาดหุ้นกับสภาพคล่องที่ยังล้นระบบ

ตลาดหุ้นกับสภาพคล่องที่ยังล้นระบบ

ตลาดหุ้นกับสภาพคล่องที่ยังล้นระบบ

ตลาดหุ้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างแปลก เวลาราคาต่ำๆ คนมักไม่สนใจจะซื้อ แต่พอราคาเริ่มปรับขึ้น คนจะเริ่มแย่งกันซื้อ และยิ่งถ้าขึ้นเร็วและแรง คนก็จะรีบกระโจนเข้าตลาดหุ้น บ้างก็เพราะกลัวตกรถไฟ บ้างก็เพราะรู้สึกมั่นใจเวลาหุ้นขึ้น พฤติกรรมที่ว่านี้ ในอดีตมักเกิดขึ้นเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อย แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะหลังจากมีการอัดฉีดเงิน QE จำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบการเงินโลก นักลงทุนต่างชาติก็มีพฤติกรรมแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่เพราะกลัวตกรถ เหตุผลหลักเกิดจากการออกกองทุนประเภท ETF และ Index Funds เป็นจำนวนมาก ทำให้เวลาหุ้นขึ้น กองทุนเหล่านี้มีความจำเป็นต้องซื้อหุ้นตาม

สำหรับตลาดหุ้นไทย หลัง SET Index ปรับขึ้นในเดือนที่แล้ว และทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 23 ปี (หลังมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง) เม็ดเงินต่างชาติก็ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง นับจากเดือนก.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยไปแล้ว 15,000 ล้านบาท (เทียบกับ 2,700 ล้านบาท ที่ซื้อใน 8 เดือนแรกของปี) รอบนี้กลับกลายเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่กล้าเข้าตลาด เพราะทยอยขายหุ้นไปกว่า 30,000 ล้านบาท

คำถามที่ผมถูกถามมากที่สุดในเวลานี้คือ หุ้นไทยแพงไปหรือยัง?

ถ้าเป็นในอดีต คำถามนี้ถือว่าตอบไม่ยาก เพราะปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อตลาดหุ้นมีไม่กี่อย่าง และค่อนข้างจะคาดเดาได้ไม่ยาก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำกว่าระดับปกติมาก และสภาพคล่องยังคงท่วมตลาดการเงิน การคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นทำได้ยากขึ้น เพราะในภาวะแบบนี้ ราคาหุ้นสามารถปรับขึ้นได้ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นเยอรมัน ปรับขึ้นไปแล้วกว่า 60% จากจุดสูงสุดเดิมในปี 2550 ก่อนเกิดวิกฤตโลก ทั้งที่มูลค่า Nominal GDP ของเยอรมันนีแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

มองไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าสภาพคล่องจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะตราบใดที่สภาพคล่องยังล้นระบบการเงิน เม็ดเงินเหล่านี้ต้องหาที่ไป และยิ่งถ้าดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ขาขึ้น ความน่าสนใจของตลาดพันธบัตรก็จะลดลง ซึ่งแปลว่าตลาดหุ้นจะยิ่งได้รับอานิสงส์เงินไหลเข้ามากกว่าในช่วงที่ผ่านมา 

ถ้าเราลองใช้งบดุลรวมของธนาคารกลาง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็น Proxy ของสภาพคล่องโลก เราจะพบว่าเม็ดเงินใหม่ที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินโดยธนาคารเหล่านี้เพิ่มขึ้นเกือบ 11 ล้านล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 4 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาสินทรัพย์การเงินเกือบทุกประเภทถึงปรับขึ้นอย่างมากมาย

สิ่งที่นักลงทุนต้องวิเคราะห์ต่อไปคือ สภาพคล่องจะเริ่มลดลงเมื่อไร

ผมลองประเมินคร่าวๆ โดยอิงจากคำแถลงการณ์ของธนาคารกลางทั้งสามแห่งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือสภาพคล่องโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีก 15 เดือนหรือจนถึงปลายปี 2561 และจะเริ่มลดลงตอนช่วงต้นปี 2562 แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ แม้ในช่วงที่สภาพคล่องเข้าสู่ขาลงแล้ว ปริมาณสภาพคล่องตอนปลายปี 2562 จะยังสูงกว่าระดับสภาพคล่องในปัจจุบัน ซึ่งแปลว่าภายในสองปีข้างหน้า สภาพคล่องก็จะยังคงล้นระบบกระเงินโลกเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่เป็นแบบนี้ เพราะ Fed คือธนาคารกลางเดียวเท่านั้นที่มีแผนลดปริมาณเงิน (เริ่มจากเดือนนี้) ในขณะที่ ECB และ BoJ ยังคงเน้นเพิ่มปริมาณเงินผ่านมาตราการ QE ต่อไปอีก (น่าจะจนถึงปลายปี 2018) ดังนั้น ผมเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่สภาวะสภาพคล่องล้นโลกจะหมดไป 

อีกปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาหุ้นในอนาคตก็คืออัตราดอกเบี้ยที่กลับสู่ขาขึ้น แต่ผมยังไม่กังวลกับปัจจัยนี้มากเท่าไร เพราะผมเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเราจะไปถึงจุดที่ดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึงระดับที่เริ่มส่งผลลบต่อราคาหุ้น

สรุป ในมุมมองของผม หุ้นยังคงเป็น Asset Class ที่น่าลงทุนที่สุด และผมยังเชื่อเหมือนเดิมว่าเราจะได้เห็น SET Index ทำสถิติสูงสุดใหม่ในปีหน้า