วงจรแห่งความสำเร็จ(2)

วงจรแห่งความสำเร็จ(2)

ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จและล้มเหลวของธุรกิจในทุกวันนี้มีอยู่ไม่กี่ประการเท่านั้น เริ่มจากข้อแรกคือต้องพร้อมปรับตัวสู่สิ่งใหม่ตลอดเวลา

ในยุคที่ไร้ความยั่งยืนทางธุรกิจ การยึดมั่นกับธุรกิจเดิมๆ โดยเชื่อว่ามันยืนหยัดมาได้เป็นสิบเป็นร้อยปีอาจทำให้ปรับตัวไม่ทันกับความเป็นไปของโลก

ข้อสองคือ การมองหาระบบนิเวศน์เป็นของตัวเอง และข้อสามลูกค้าไร้พรมแดนที่ไม่อาจใช้สินค้าและบริการแบบเดียวกัน แต่ละภูมิภาคหรือในประเทศต่างๆ ล้วนมีพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนกัน สินค้าทุกวันนี้จึงออกแบบในประเทศหนึ่ง ผลิตในอีกประเทศหนึ่งและขายให้เฉพาะกับในประเทศหนึ่งเป็นเรื่องปกติ

ข้อสี่ต้องปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลให้เร็วที่สุดด้วยการแสวงหาโอกาสที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ และข้อที่ห้าคือการความรวดเร็วในการปรับตัวนั้นต้องอาศัยการวางพื้นฐานที่ดีที่เอื้อให้องค์กรรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันสถานการณ์

ต่อกันในข้อที่หก อย่านั่งทับขุมสมบัติที่มีชื่อว่า “ข้อมูล” เราจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้ามาหลายปีจนกลายเป็นงานเอกสารอันน่าเบื่อและเรามักจะใช้มันเพื่อบริการลูกค้าหลังการขายเป็นหลัก ไม่ค่อยจะมีคนคิดว่าข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้มองเห็นรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า หรือ การเคลื่อนไหวของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ

ยิ่งในยุคที่เก็บข้อมูลลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ จำนวนมากมายจนกลายเป็น “บิ๊กดาต้า” ทำให้วิเคราะห์และพยากรณ์ได้ว่าสินค้าใดอาจเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้ ช่วยทำให้วางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น และข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นมากด้วย 

บริการออนไลน์หลายๆ ประเภทจึงแทบไม่ต้องเก็บค่าบริการเพราะเล็งเห็นว่าข้อมูลลูกค้าที่ได้มานั้นมีค่ามากกว่าหลายเท่า ยิ่งเป็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยยิ่งทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น หากมีความสามารถในการวิเคราะห์ก็ยิ่งทำให้เห็นข้อมูลในหลายๆ มิติยิ่งขึ้น

ข้อเจ็ด ต้องรู้จักมูลค่าของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพราะในยุคที่การระดมทุนไม่ได้มีเพียงแค่ธนาคารและสถาบันการเงิน แต่มีช่องทางใหม่ๆ มากมายทั้ง Peer-to-Peer Lending หรือเงินกู้บุคคลต่อบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ตและ Crowdfunding ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่นที่ดิน อาคาร มาค้ำประกันเหมือนกับสินเชื่อในอดีต เพียงแค่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้

ปัจจุบัน Sharing Economy เอื้อให้คนที่มีทุนทรัพย์จำนวนมากมองหาช่องทางลงทุนต่างๆได้ง่ายขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับตลาดเงินและตลาดทุนเหมือนในอดีต แม้การลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงมากกว่าเช่นกัน

ยุคสมัยของนักธุรกิจที่มีเงินทุน 10 บาทก็ทำธุรกิจได้ในวงจำกัดเพียง 10 บาทเหมือนในอดีตจึงจะค่อยๆ หมดไป เพราะเทคโนโลยีเข้ามาลดช่องว่างระหว่างคนทำธุรกิจที่มีความคิดดีๆ แต่ขาดแคลนเงินทุน กับนักลงทุนที่มีเงินจำนวนมากแต่ไม่รู้จะเอาเงินที่มีไปใช้ลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ฝากธนาคาร 

สตาร์ทอัพที่มาแรงในยุคนี้จึงเป็นธุรกิจฟินเทคจำนวนมากเพราะมองเห็นโอกาสดังกล่าว ในขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินและกองทุนให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่างๆ ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และสตาร์ทอัพที่มีผลงานโดดเด่นก็ระดมทุนในระดับซีรีย์เอและบีจากเวนเจอร์แคปิตอลหลายแห่งได้สำเร็จ

การเติบโตของธุรกิจสมัยใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่เริ่มจากการใช้เงินลงทุนตั้งต้น (Seed Fund) ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ เมื่อประสบความสำเร็จ ต้องการขยายฐาน หรือเติบโตก็จะระดมทุนไปตามขั้นจนกระทั่งงบมหาศาลหลัก 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่ที่ธุรกิจดั้งเดิมต้องตามให้ทัน