Blue Ocean (อีกครั้ง)

Blue Ocean (อีกครั้ง)

ในปัจจุบันแนวคิดของBlue OceanและRed Ocean กลายเป็นแนวคิดที่เป็นที่เข้าใจของนักธุรกิจส่วนใหญ่ กลายเป็นศัพท์สามัญที่เมื่อเอ่ยถึงก็จะเป็นทั่วไป

แนวคิดของกลยุทธ์น่านน้ำสีครามหรือ Blue Ocean Strategy เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจากหนังสือขายดีระดับโลก ในปี 2005 ชื่อ Blue Ocean Strategy เขียนโดย W. Chan Kim และ Renee Mauborgne สองอาจารย์จากสถาบัน INSEAD ที่ฝรั่งเศส

หลังจากหนังสือเล่มดังกล่าวออกมาในปี 2005 ก็ทำให้แนวคิดของ Blue Ocean เป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แนวคิดของ Blue Ocean มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการสอนต่างๆ บริษัท หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งประเทศก็มีการนำแนวคิดของ Blue Ocean ไปปรับใช้ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งคู่ก็ออกหนังสือตอนต่อมาภายใต้ชื่อ Blue Ocean Shift และล่าสุดก็ขึ้นติดอันดับหนังสือขายดีของหลายๆ สื่อเรียบร้อยแล้ว

ถ้าในเชิงวิชาการและทฤษฎีแล้ว Blue Ocean Shift ไม่ได้มีอะไรใหม่จาก Blue Ocean Strategy มากนัก แต่ในเชิงการปฎิบัติหรือตัวอย่างนั้น ผู้เขียนทั้งสองท่าน ได้รวบรวมกรณีศึกษาและตัวอย่างของการนำแนวคิด Blue Ocean ที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกนำไปปฏิบัติมาตลอดกว่า 10 ปี และกลั่นออกมาเป็นแนวทางในการนำแนวคิดของ Blue Ocean ไปปฏิบัติเพื่อความสำเร็จในการสร้างตลาดใหม่ๆ 

ผู้เขียนทั้งสองท่านได้ให้นิยามไว้ว่า Blue Ocean Shift เป็นกระบวนการที่เป็นระบบในการขับเคลื่อนองค์กรให้ออกจากตลาดที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง (Red Ocean) ไปสู่ตลาดใหม่ (Blue Ocean) โดยเป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา และทำให้คนในองค์กรทั้งหมดร่วมไปพร้อมๆ กัน

ในหนังสือเล่มนี้ระบุไว้ว่าการที่จะสามารถนำพาองค์กรออกจาก Red Ocean ไปสู่ Blue Ocean ได้สำเร็จนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสามประการได้แก่ 1) การมีแนวคิดและมุมมองแบบ Blue Ocean โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดใหม่ในรูปแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความแตกต่างหรือลดต้นทุน แต่ต้องเป็นเรื่องของ Value Innovation 

2) การมีเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการสร้างตลาดใหม่ๆ 3) การทำให้บุคลากรในองค์กรมีความมั่นใจและพร้อมจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Blue Ocean หรือที่เรียกว่า humanness และจากประสบการณ์ของทั้งคู่พบว่าแก่นสำคัญในการ Blue Ocean Shift นั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่คนมากที่สุด 

หลายๆ องค์กรไม่สามารถสร้าง Blue Ocean ขึ้นมาได้นั้นก็มักจะมาจากการไม่สามารถที่จะทำให้คนมั่นใจและพร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ใหม่ๆ และสุดท้ายก็กลายเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอก็คือความสัมพันธ์ของแนวคิดเรื่อง Disruptive กับ Blue Ocean Strategy ซึ่งผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่าการสร้างตลาดและความต้องการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น (ตามแนวคิดของ Blue Ocean) มีอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน 

แนวทางแรกเป็นเรื่องของ Disruptive Creation ซึ่งเป็นการ disrupt หรือทำลายล้างตลาดเก่า เพื่อสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา อาทิเช่น กล้องถ่ายรูปดิจิทัล ที่ทำให้ตลาดกล้องถ่ายรูปด้วยฟิล์มสูญสลายไป (Disruptive Innovation ก็อยู่ภายใต้เรื่องของ Disruptive Creation) 

ส่วนแนวคิดที่ 2 เป็นเรื่องของ Nondisruptive Creation ที่ไม่จำเป็นต้องทำลายล้างตลาดเดิมก็สามารถสร้างตลาดและความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ตัวอย่างของ Nondisruptive Creation อาทิเช่น Sesame Street ที่ทำให้เด็กทั่วโลกติดกันอย่างงอมแงม โดยไม่ได้มีการส่งผลกระทบต่อตลาดเดิมที่มีอยู่ เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนพยายามทำให้เห็นว่า Blue Ocean ที่เกิดขึ้นได้นั้นจะมาจาก Value Innovation ไม่ใช่ Technology Innovation ทั้งนี้เนื่องจากการจะสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ลูกค้าได้รับ (Value Innovation) ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ 

ยิ่งถ้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ไปหลงอยู่ในกับดักว่าการสร้างตลาดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นนั้นมาจากเทคโนโลยีเป็นหลัก ก็จะยิ่งไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้กับคุณค่าที่ลูกค้าได้รับ

ท่านผู้อ่านที่สนใจก็ลองหาหนังสืออ่านดูได้นะครับ มีจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว