กฎหมายนิวเคลียร์กับวิชาชีพทันตแพทย์

กฎหมายนิวเคลียร์กับวิชาชีพทันตแพทย์

ผมได้อ่านข้อเขียนเรื่อง “กฎหมายนิวเคลียร์กับอาชีพทันตแพทย์” เขียนโดย ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับ 6 ต.ค.2560 แล้ว

 แม้ว่าจะไม่ได้แสดงความเห็นในเวทีสัมมนา แต่ก็ต้องกราบขอบพระคุณที่ได้แสดงความเห็นไว้ในบทความ ทันตแพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้นำบทความดังกล่าวโพสต์ไว้ในเฟสบุ๊คของทันตแพทยสภาเพื่อให้สมาชิกได้เห็นมุมมองและความเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งเปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของวิชาการ โดยมุ่งประโยชน์ไปที่ประชาชนเป็นสำคัญ

กฎหมายนิวเคลียร์กับวิชาชีพทันตแพทย์

ตลอดระยะเวลาที่มีการถกเถียงกันเรื่องกฎหมายนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์รวมถึงทันตแพทย์ เราไม่ค่อยได้รับมุมมองหรือความเห็นจากภาคประชาชนมากนัก ทันตแพทยสภาเองก็พยายามรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนรวมทั้งได้ขอให้นักวิชาการด้านรังสี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายให้ความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ด้วย ซึ่งทำให้ได้เห็นมุมมองที่กว้างออกไป ทันตแพทยสภาไม่มีจุดยืน ที่จะคอยแต่ปกป้องผลประโยชน์ของทันตแพทย์แต่เราให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่า

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้ จึงทำให้มีข้อบกพร่องจำนวนมาก เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ยอมรับว่าหากการตรากฎหมายฉบับนี้ทำภายหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้แล้ว กฎหมายฉบับนี้คงไม่ผ่านออกมาจนทำให้มีปัญหาเช่นนี้ เนื่องจากต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งต้องเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นการวิเคราะห์ต่อประชาชนด้วย แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำ

ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้คือ การรวม “วัสดุกัมมันตรังสีที่เกิดจากธาตุกัมมันตรังสี” และ “วัสดุนิวเคลียร์” ซึ่งให้กำเนิดรังสีที่มีอันตรายรุนแรงมารวมกับ “เครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค” โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ปลดปล่อยรังสีออกมาในปริมาณน้อยแต่ถูกกำหนดวิธีการควบคุมเช่นเดียวกับวัสดุกัมมันตรังสี และวัสดุนิวเคลียร์ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือในทางอุตสาหกรรม การควบคุมและบทลงโทษที่รุนแรงแบบเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและจะส่งผลกระทบถึงประชาชน

เอกซเรย์ฟันเป็นเครื่องมือแพทย์ ประกอบด้วยอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการทำให้เกิดรังสี ไม่มีส่วนประกอบใดเป็นสารกัมมันตรังสีที่ปลดปล่อยรังสีได้เอง เมื่อจำหน่ายทิ้งก็เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปเช่นเดียวกับทีวีหรือไมโครเวฟ ไม่มีรังสีหรือกากกัมมันตรังสีตกค้างที่ต้องกำจัดหรือควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ทำให้เกิดการการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นการเปรียบเทียบปัญหาเรื่องรังสีจากเอกซเรย์ฟันกับปัญหาดาวเทียม COSMOS954 ของรัสเซียที่ตกในแคนาดาจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เครื่องเอกซเรย์ฟันให้กำเนิดรังสีเอ็กซ์จากพลังงานไฟฟ้าโดยการเร่งอิเล็คตรอนจากใส้หลอดที่ถูกเผาให้ร้อนแล้วปล่อยให้อิเล็กตรอนนั้นวิ่งชนเป้าโลหะทังสเตน ทำให้เกิดการเปลี่ยนชั้นพลังงานของอิเล็กตรอนนของโลหะ เกิดพลังงานออกมาในรูปของรังสีเอ็กซ์ ด้วยเหตุนี้เมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้าเข้าก็จะไม่มีรังสีเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเครื่องเอกซเรย์ฟันสามารถให้กำเนิดรังสี จึงอาจมีอันตรายได้ ถ้าใช้หรือดูแลไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการควบคุม และทันตแพทยสภาก็เห็นด้วยกับการควบคุม แต่ต้องเป็นไปอย่าง “ถูกต้อง” และ “เหมาะสม”

เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ที่มีรังสีต่ำที่สุดและมีปริมาณรังสีลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิตัล เครื่องรุ่นใหม่ที่จำหน่ายในท้องตลาด มีรังสียังผลอยู่ที่ประมาณ 0.3-1ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งเทียบเท่ากับการได้รับรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จากการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติประมาณ 1 ชั่วโมง รังสีจากเครื่องเอกซเรย์ฟันจะทำให้เกิดอันตรายอย่างเฉียบพลันต่อเนื้อเยื่อได้ ก็ต่อเมื่อมีการถ่ายเอกซเรย์สูงถึง 20,000 ฟิล์มในคราวเดียว ซึ่งในทาง ปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้ ส่วนผลจากรังสีสะสมที่จะทำให้เกิดมะเร็ง ตามรายงานมีเพียง 1 ใน 10 ล้าน ถึง 1 ใน ล้านเท่านั้นโดยปกติประชาชนทั่วไป พบทันตแพทย์ปีละไม่กี่ครั้ง และทุกครั้งที่พบก็อาจไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์ โอกาสที่จะได้รับรังสีจนเกิดอันตราย จึงมีน้อยมาก

ผู้ที่ต้องระมัดระวังอย่างมากคือตัวทันตแพทย์เอง และ ผู้ช่วยทันตแพทย์มากกว่า เนื่องจากต้องนั่งทำงานในคลินิกตลอดเวลา จึงมีโอกาสได้รับรังสีสะสมมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานว่าทันตแพทย์หรือผู้ช่วย มีอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งสูงกว่าบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากการใช้เอกซเรย์ในคลินิกมีระบบการป้องกันที่ดีพออยู่แล้ว

เครื่องเอกซเรย์ฟัน เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ถูกควบคุมมาตรฐานการผลิตและการนำเข้า โดย อย. ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ เมื่อนำมาติดตั้งในคลินิก จะมีการตรวจสอบมาตรฐานเครื่อง ระบบการป้องกันรังสีจากการใช้งาน ทั้งหมดต้องผ่าน มาตรฐานการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ใช้เครื่องคือทันตแพทย์ หรือผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมและใช้ภายใต้ความรับผิดชอบของทันตแพทย์ ต้องปฏิบัติตาม มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านทันตรังสีจากราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีทันตแพทยสภาให้การรับรอง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เป็นผู้ที่ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอ็กซเรย์ฟันอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันศาสตร์ด้านนี้มีการพัฒนาไปอย่างมากซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน

เมื่อเครื่องเอ็กซเรย์หมดอายุการใช้งานก็ทิ้งเป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ทั่วไปและกำจัดทิ้ง ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ จะเห็นได้ว่าการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ฟัน มีการควบคุมด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน เรียกว่าตั้งแต่มันเกิดจนตาย แต่กฎหมายนิวเคลียร์เพื่อสันติฉบับนี้ กลับให้อำนาจสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาควบคุมซ้อนอีกชั้นหนึ่งในทุกขั้นตอน จึงเป็นความซ้ำซ้อนที่ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันเป็นการเพิ่มขั้นตอนเพิ่มค่าใช้จ่ายในระบบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี RSO มาประจำอยู่ตลอดเวลาทำการ เพื่อเฝ้าเครื่องเอ็กซเรย์ที่ให้รังสีต่ำและไม่มีรังสีเกิดขึ้นเองได้ตลอดเวลา เหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุกัมมันตรังสีหรือวัสดุนิวเคลียร์ นอกจากนี้เครื่องมือนี้ ยังใช้เท่าที่จำเป็นไม่ได้ใช้ตลอดเวลาบางวันอาจไม่ได้ใช้เลย จึงเป็นเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตนซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นหากต้องจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือ RSO มาคุมเครื่องด้วยจะสูงถึง 500 บาท ต่อฟิล์มเอกซเรย์ฟันเล็กๆ 1 ใบ และจะเป็นภาระของประชาชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและ ชุมชนที่อยู่ห่างไกล

การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ต้องมี RSO อยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการ ด้วยโทษรุนแรงจะทำให้ทันตแพทย์อาจเลิกใช้เครื่องเอ็กซเรย์ในคลินิก จะส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ต้องถูกส่งตัวไปเอกซเรย์ในโรงพยาบาลหรือศูนย์เอกซเรย์ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก

การมี RSO ประจำอยู่ตลอดเวลาทำการ เหมาะสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือการใช้เครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้สารกัมมันตรังสีที่มีรังสีรุนแรง หรือการใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป หรืออุตสาหกรรมทางการเกษตร ที่ต้องเดินเครื่องตลอดเวลา

ในทางสากล ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA กำหนดให้ทันตแพทย์และแพทย์บางสาขาสามารถใช้เครื่องเอ็กซเรย์ได้โดยอิสระไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีมาควบคุมอีกเนื่องจากเห็นว่าบุคลากรเหล่านี้มีความรู้ความสามารถอย่างเพียงพอในการใช้เครื่องได้อย่างปลอดภัย โดยให้สภาวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมกำกับ เรื่องมาตรฐาน การปฏิบัติ และให้การศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้ มีความรู้ที่ทันสมัย ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน ตลอดเวลา และในนานาอารยะประเทศก็ปฏิบัติเช่นนี้และให้เครื่องเอ็กซเรย์ทางทันตกรรมอยู่ในการควบคุมกำกับของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่

กฎหมายฉบับนี้จึงไม่น่าจะเป็นผลดีกับประชาชนผู้บริโภคและผู้ใช้บริการเนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนแต่กลับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและลดโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน

มิใช่การปกป้องผลประโยชน์ของทันตแพทย์แต่ประการใด

 /////

โดย...ทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ

นายกทันตแพทยสภา