ทำไมต้องเป็นที่หนึ่ง? ทำไมต้องเป็นคนแรก?

ทำไมต้องเป็นที่หนึ่ง? ทำไมต้องเป็นคนแรก?

ฮือฮาสะเทือนโลกเมื่อ'อิวานนาทรัมป์'ภรรยาคนแรกของผู้นำสหรัฐออกมาบอกว่าคือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตัวจริง

เป็นเรื่องธรรมดาที่เรามักจะจดจำผู้ชนะได้มากกว่าผู้แพ้ เพราะผู้ชนะคือผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์ ในเวทีนางงามเราคุ้นแต่ชื่อของผู้ที่ได้ครองมงกุฏเท่านั้นและบรรดา'รองชนะเลิศ'ทั้งหลายก็แทบไม่เคยถูกพูดถึงชื่ออีกเลย การเป็นที่หนึ่ง(First)หรือคนแรกนั้นมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในทุกมิติ แม้ปัจจุบันเราเห็นภาพของ'เมลาเนียทรัมป์'เดินเคียงคู่กับผู้นำพญาอินทรีสื่อแต่นักวิเคราะห์มองว่าเธอคือไม้ประดับหรือตุ๊กตาสำหรับโดนัลด์ทรัมป์เท่านั้นและคู่ทุกข์คู่ยากตัวจริงที่อยู่กินกันมาเกือบ20ปีอย่างอิวานนาคือ'เบอร์1'ของจริง เพราะเธอคือแม่ของลูกๆทั้งสามคนที่เป็นกำลังหลักในทีมทำงานของทรัมป์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะกล้าพูดว่าเธอมีเบอร์โทรสายตรงไปที่ทำเนียบขาวเพียงแต่ไม่ค่อยได้โทรไป "เพราะฉันรู้ว่าเมลาเนียอยู่ที่นั่น" อิวานนนาบอกกับนักข่าว

นมุมของธุรกิจการเป็นเจ้าแรกที่แรกที่หันมาทำอะไรใหม่ๆ(First Mover)เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญเพราะผู้คนจะจดจำได้ก่อนเกิดการรับรู้(Awareness)และคุ้นเคยกับแบรนด์ได้มากกว่าบริษัทใหม่ๆที่เข้ามาทำตลาดในภายหลัง แบรนด์ที่ขยับก่อนจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดไปครองมากกว่าพอคู่แข่งเลียนแบบก็พัฒนาสินค้าใหม่ออกมาสู้ได้ไม่ว่าจะรสชาติใหม่ กลิ่นใหม่ บรรจุภัณฑ์ใหม่หรือช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆก็ตามที ถ้าใช้การสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่องแบรนดฺ์ก็จะพัฒนาไปเป็น'ที่หนึ่งในใจ(Top of Mind)'ของผู้บริโภคไปโดยปริยาย นึกถึงสินค้าประเภทนี้ก็จะจำชื่อแบรนด์นั้นได้ก่อน บางกรณีก็เรียกชื่อแบรนด์แทนสินค้าตัวนั้นไปเลยก็มี

ในมุมของลูกค้าการได้รับสินค้าและบริการจากแบรนด์ก่อนใครหรือความรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญมีผลอย่างมากกับการตัดสินใจซื้อ ซื้อซ้ำและอดใจไม่ได้ที่จะบอกต่อความประทับใจออกไป 'แดเนียลเบิร์สทีน'ผู้บริหารของ'มาร์เก็ตติ้งเชอปาร์(MarketingSherpa)'เล่าผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจากกลุ่มตัวอย่าง2,400คน พบว่าการทำการตลาดแบบ'ลูกค้ามาก่อน(Customer First Marketing') กลุ่มตัวอย่างถึง22เปอร์เซ็นต์เห็นว่าสำคัญมากที่สุดกว่าสิ่งอื่น ไม่มีไม่ได้ ลูกค้าจะรับรู้ว่าได้รับบริการที่ดีและคุ้มค่ากว่าคนอื่นที่จ่ายเงินในราคาเท่าๆกันให้กับแบรนด์อื่นที่ใส่ใจลูกค้าน้อยกว่า

ตัวอย่างที่ดีคือธนาคารไทยพาณิชย์ที่เล่นกับคำว่า'เฟิร์สต์(First)'นอกจากจะสั้นกระชับจำง่ายและยังสื่อความหมายได้ครบด้วยทั้งการเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย และก่อนหน้านี้ก็ยังใช้'ครั้งแรก'เพื่อเล่นกับอารมณ์ของผู้บริโภคกับประสบการณ์วันวานหวานชื่น(Nostalgia) เช่น การไปโรงเรียนครั้งแรก น้ำตาหยดแรก วงดนตรีวงแรก ไวโอลินตัวแรก แล้วขมวดปมจบที่'ครั้งแรกไม่มีขอบเขต' ซึ่งถือว่าทำได้ดีทีเดียวและยังต่อยอดทำ'เอสซีบีเฟิร์สต์(SCB First)'บริการสำหรับลูกค้าชั้นบนของธนาคารที่มีสินทรัพย์กับธนาคารตั้งแต่10ล้านบาทเป็นต้นไป ขายอภิสิทธิ์เหนือระดับที่พิเศษกว่าใคร

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโลกธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์เรื่องเบอร์หนึ่งคนแรกหรือแห่งแรกจากนี้และต่อไปเราก็ยังจะเห็นข่าวคราวของคนซื้อไอโฟนรุ่นใหม่คนแรก ตึกนวัตกรรมใหม่แห่งแรก หรือบริการใหม่เจ้าแรกเพราะคนแรกเป็นที่จดจำเสมอ

เหมือนที่ท่านผู้อ่านก็จะไม่มีวันลืมแฟนคนแรกใช่มั้ยครับ?