เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและความเห็นแก่ตัว

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและความเห็นแก่ตัว

ในที่สุดรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 2017 ก็ตกเป็นของศาสตราจารย์ ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) ซึ่งถือได้ว่า

เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)และส่งผลให้สาขาวิชานี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ศาสตราจารย์แดเนียล คานาแมน (Daniel Kahneman) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์ได้รับรางวัลนี้มาแล้วในปี ค.ศ. 2002

“เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” เป็นการนำเอาจิตวิทยามาผสมผสานรวมกับเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายพฤติกรรมมนุษย์ โดยการเอาจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วยแปลว่าอารมณ์และความรู้สึกมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มนุษย์ตัดสินใจหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมไม่สามารถอธิบายได้เนื่องจากทฤษฎีดั้งเดิมเหล่านั้นมักจะอยู่ภายใต้สมมติฐานว่ามนุษย์มีเหตุผล (rationality) และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว (self interest) งานวิจัยด้านนี้ถูกนำมาประยุกต์เข้ากับสาขาวิชาอื่นๆ รวมทั้งยังมีนัยทางด้านนโยบายสาธารณะอีกด้วย

การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์นั้น เราไม่สามารถสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามได้ในทุกกรณี เนื่องจากบางคนไม่สามารถระบุเหตุผลหรือที่มาของการตัดสินใจหรือการกระทำของตัวเองได้ ในขณะที่บางคนก็อาจโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดีก็มี ดังนั้น นักวิจัยจึงจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงโดยอาศัยวิธีการทดลองซึ่งอาจเกิดขึ้นในห้องทดลอง (Laboratory Experiment) หรือนอกห้องทดลอง (Field Experiment) ก็ได้

ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพจากงานวิจัยของตัวผมเองคือ ผมได้ให้นักศึกษาเข้าร่วมการทดลอง (Laboratory Experiment) ในเกมความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma Game) โดยในเกมนี้ คนที่เข้าร่วมการทดลองจะถูกจับคู่กับอีกคนหนึ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก และจะต้องเลือกระหว่าง ร่วมมือหรือ ทรยศ โดยหากทั้งคู่ตัดสินใจ “ร่วมมือ” กัน ทั้งคู่ก็จะได้ผลตอบแทนสูงสุด 

อย่างไรก็ตาม ความลำบากใจเกิดขึ้นเนื่องจาก เราจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นไปอีกถ้าเราตัดสินใจ “ทรยศ” คู่ของเรา ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าดุลยภาพ (Equilibrium) หรือผลลัพท์ของเกมนี้คือ ทุกคนจะ “ทรยศ” ซึ่งกันและกันเนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีเหตุผลจะถูกกระตุ้นด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว (มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม)

ผลจากการทดลองคือ เกือบครึ่งหนึ่งตัดสินใจที่จะ “ร่วมมือ” กับคนที่ตัวเองไม่รู้จัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเห็นแก่ตัวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของมนุษย์ จริงๆ แล้วมีการทดลองลักษณะนี้มากมายในต่างประเทศและผลที่ได้ก็ใกล้เคียงกันคือ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมการทดลองตัดสินใจที่จะ “ร่วมมือ” กับคนแปลกหน้า มากกว่าที่จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเอง ผมยังลองเพิ่มปัจจัยอื่นๆ เข้าไปด้วยในการทดลอง เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้พูดคุยกันก่อนประมาณ 15 นาที ผลที่ได้คือ การเปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าได้พูดคุย (หรือยิ้มให้กัน) แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถเพิ่มความร่วมมือและลดความเห็นแก่ตัวของคนลงได้อย่างมาก

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ก่อนที่คุณจะเจรจาธุรกิจ พบปะลูกค้า หรือทำงานกลุ่มร่วมกับคนแปลกหน้า อย่าลืมเริ่มต้นด้วยการพูดคุยนอกเรื่องและยิ้มให้กันประมาณ 15 นาทีนะครับ

 ///

โดย...  ผศ. ดร. ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ ภาควิชาบริหารธุรกิจ   วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล [email protected]