2 สัปดาห์บัตรคนจน และการประเมินผลที่ชวนสงสัย

2 สัปดาห์บัตรคนจน และการประเมินผลที่ชวนสงสัย

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” ได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นมา แม้ว่าในภาพรวม บัตรคนจนจะมีความผิดพลาด

เรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพราะนิยาม “คนจน” ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้รับได้บัตรมีจำนวนมากถึง 11.67 ล้านคน ขณะที่คนจนที่แท้จริง จากการสำรวจโดยสศช. มีเพียง 4.85 ล้านคน หากนำตัวเลขผู้ว่างงาน ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้เข้ามาเพิ่ม ก็ยังไม่ทำให้ได้คนจนเท่ากับ 11.67 ล้านจนอยู่ดี สะท้อนว่าโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการวางกลุ่มเป้าหมาย

หลังจากที่ได้เริ่มใช้โครงการไปแล้ว ก็พบว่ามีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความเร่งรีบในการเริ่มโครงการทั้งที่ขาดความพร้อมของร้านค้าธงฟ้าและการกำกับดูแล เช่น กรณีที่ผู้มีรายได้น้อยเอาบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินสด ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อผู้ถือบัตร (ไม่ขอใช้คำว่า คนจน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนจน) สามารถนำเงินไปซื้ออะไรก็ได้ เหตุใดจึงยังต้องการถือเงินสดอยู่ หากจะนำไปซื้อสินค้าในตลาดสด ผู้ถือบัตรก็สามารถนำค่าจ้างที่ได้รับเป็นเงินสดมาใช้ที่ตลาดได้ ความเป็นไปได้จึงอยู่ที่ค่าใช้ส่วนอื่นที่นอกเหนือจากสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ต้องการเพิ่มเงินค่าขนมให้กับลูก ต้องการนำไปใส่ซองงานบวช หรืออาจจะนำไปเล่นการพนัน 

อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ การติดตั้งเครื่องอีดีซี ซึ่งต้องพึ่งพาความแรงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงตัวเครื่องที่ยังกระจายไม่ครบทั่วทุกร้านธงฟ้าในประเทศ ทำให้เกิดการจำนองจำนำบัตรคนจนเอาไว้หลายพันใบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

เมื่อบัตรคนจน สามารถใช้ได้เฉพาะร้านธงฟ้าประชารัฐ สิ่งที่ตามมาคือผู้ถือบัตรก็จะไปกระจุกตัวอยู่ในร้านธงฟ้า ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ร้านโชห่วย แผงลอยในตลาด หรือร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจเรื่องของคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าร้านธงฟ้าว่ามีมากเท่ากับร้านอื่นหรือไม่ นอกจากจะส่งมอบสินค้าราคาถูกให้ประชาชนแล้ว ก็ควรยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย

ประเด็นต่อมาคือการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการบัตรคนจน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ออกมาระบุ (เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560) ว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KOFC) ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์โครงการประชารัฐสวัสดิการ พบว่า กว่า 30% ของผู้ถือบัตรคนจนเป็นเกษตรกร ขณะที่อีกกว่า 70% นั้น อยู่นอกภาคเกษตรกร (หนึ่งในนั้นก็มีบุคคลที่จบปริญญาโทและปริญญาเอกรวมอยู่ด้วย) ดังนั้น ภาพรวมของผู้ถือบัตรจึงชัดเจนขึ้นว่า ผู้รับได้ประโยชน์มีคนที่จนไม่จริงปะปนอยู่มากพอสมควร เพราะคนที่จนที่สุดในสังคมกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตร แต่ไม่ใช่ทุกคนในภาคเกษตรที่ถือบัตรดังกล่าว

สำหรับผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ออกมาระบุว่า สร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจประมาณ 1.2 แสนล้านบาทนั้น ไม่มีการระบุว่าเป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นในกรอบเวลาใด ต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี หรือตอบไม่ได้ว่าภายในเมื่อไหร่ รู้ว่าระยะยาวแต่ไม่รู้ว่ายาวนานแค่ไหน นอกจากนั้น มีข้อสังเกตในผลการคำนวณว่า เกษตรกรจำนวน 3.32 ล้านคน ใช้จ่ายผ่านบัตร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 21 หมื่นล้านบาท การคำนวณเช่นนี้ได้ย่อมมีสมมติฐานว่า เกษตรกรใช้จ่ายในสินค้าอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ควรมีการระบุสมมติฐานที่ใช้มากกว่านี้ 

นอกจากนี้ยังระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 70.73 ล้านบาท นอกจากจะไม่ทราบแล้วว่า 21 บาทนี้ เป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือต่อปี แต่เมื่อดูค่าเฉลี่ย พบว่า มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 21 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นว่าจะมีสมมติฐาน ไม่ใช่ทุกคนที่เดินทาง ดังนั้น จึงควรระบุสมมติฐานด้วยว่าตั้งไว้อย่างไร และ 70.73 ล้านบาทนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และประโยชน์เกิดกับใคร

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ข้อความที่ระบุว่า โครงการก่อให้เกิดการเติบโตในสาขาการทำนา การเลี้ยงสัตว์ปีก การเลี้ยงสุกร มีข้อสงสัยคือ การใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าช่วยให้การทำนาเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ผ่านช่องทางใด หากเป็นเรื่องของการซื้อข้าวสาร สัดส่วนการซื้อข้าวสารจากร้านธงฟ้าเป็นอย่างไร เพราะหากเข้าใจไม่ผิด คนในชนบทมักไม่ได้ซื้อข้าวสารจากร้านสะดวกซื้อ แต่เป็นโรงสี หรือหากมีสมมติฐานว่า บัตรคนจนทำให้กินข้าวเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะจริงเพราะคนจนไม่ใช่คนที่หิวตลอดเวลา และมีการศึกษามากมายพบว่า คนจนไม่ได้ใช้เงินที่เพิ่มขึ้นไปกับอาหารเพียงอย่างเดียว 

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คำนวณออกมานั้น มีการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเครื่องอีดีซี บัตรสมาร์ทการ์ด ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ลงสำรวจ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วหรือยัง นอกจากนั้น ยังควรมีการหักลบรายได้ที่หายไปของร้านค้าที่ผู้ถือบัตรเคยใช้จ่ายด้วยเงินสดที่ได้รับจากค่าจ้างด้วย หากต้องการประเมินผลกระทบในภาพรวม

นอกจากนั้น ยังมีการเรียกร้องจากนักวิชาการให้ลดอายุของผู้มีสิทธิได้รับบัตร จาก 18 เหลือเพียง 15 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ใช้แรงงานซึ่งมีจำนวนมากในต่างจังหวัดนั้น ถือว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือว่าเป็นแรงงานเด็ก หากจะจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 นายจ้างจะต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วันนับตั้งแต่เด็กเข้าทำงาน นอกจากนั้น ยังห้ามทำงานระหว่าง 22.00-06.00 น. รวมถึงมีข้อกำหนดมากมาย นอกจากนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 ห้ามจ้างแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานในงานทั่วไป และงานเกษตรกรรม 

อย่างไรก็ตาม มีการห้ามจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานที่เป็นอันตราย เช่น งานใช้เครื่องยนต์ งานปั๊มโลหะ งานที่เกี่ยวกับวัตถุมีพิษ งานขับรถยก งานที่มีเสียง แสง ระดับแตกต่างจากปกติ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าวในระยะแรก การกำหนดผู้มีสิทธิได้รับบัตรที่อายุ 18 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้ว

โดยสรุป เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความยากจน แม้บัตรคนจนจะออกแบบมาไม่ถูกต้องทั้งหมด กลุ่มเป้าหมายผิดพลาด แต่ทุกภาคส่วนก็พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการจ้างที่ปรึกษาติดตามนโยบายบัตรคนจนอย่างจริงจังมากขึ้น นอกเหนือจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเครื่องอีดีซีแล้ว ควรลงไปสำรวจด้วยว่า มีคนจนจำนวนเท่าไหร่ที่ตกหล่นหรือไม่ได้รับบัตรคนจน คนจนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ ช่วยให้หางานได้ง่ายขึ้นหรือมีการชะลอการหางานออกไป รวมถึงติดตามพฤติกรรมการออมและการกู้เงินของคนจน เพื่อให้โครงการในอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 ////

โดย... วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

Crawford School of Public Policy, Australian National University