‘เทสลา’กรุยทางสู่รถยนต์ไร้คนขับ

‘เทสลา’กรุยทางสู่รถยนต์ไร้คนขับ

ปี2008 อีลอน มัสค์ ซีอีโอ เทสลา (Tesla) เริ่มจำหน่ายรถยนต์สปอร์ตพลังงานไฟฟ้า รุ่นแรกที่มีชื่อว่า Tesla Roadster  ราคา 112,000 ดอลลาร์

โดยจำหน่ายได้เพียง 2,500 คัน และต้องเผชิญกับการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก 

อุตสาหกรรมรถยนต์อาจคาดไม่ถึงต่อความเพียรพยายามของเทสล่าที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็น “Model S” ที่ราคา 50,000 ดอลลาร์ในปี 2012 และรุ่น “Model X” ที่ราคา 80,000 ดอลลาร์ในปี 2015

ล่าสุดเมื่อเทสลาส่งมอบรถยนต์รุ่น “Model 3” ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์ล็อตแรกจำนวน 30 คันเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมและความสามารถของเทสลาที่เขย่าอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ จนครั้งหนึ่งเทสลาได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดในอเมริกาที่ 51,540 ล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.2017

เทสลากับกลยุทธ์ที่ทำจริง

กล่าวได้ว่าความสำเร็จของเทสลาเกิดจากแผนงานและความพยายามของ อีลอนและทีมงานที่บุกบั่นและผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาด โดยใช้กลยุทธ์การนำเงินที่ได้จากการผลิตรถยนต์รุ่นแรกที่มีจำนวนน้อยแต่ราคาสูง เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตรถยนต์รุ่นต่อไปในราคาที่ถูกลง แต่ให้ได้จำนวนการผลิตที่มากขึ้น 

โดยอีลอน หวังว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดเพื่อให้ลูกค้าจำนวนมากสามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษจากท้องถนนโดยการใช้พลังงานสะอาดจากกระแสไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานปิโตรเลียม

Tesla Model 3 นับเป็นรถยนต์ที่สร้างสถิติจากยอดจองรถยนต์ที่สูงถึง 455,000 คันด้วยเงินจอง 1,000 ดอลลาร์ต่อคัน โดยเทสลามีแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 500,000 คันต่อปีให้ได้ภายในปี 2018 หรือต้องผลิต Model 3 กว่า 10,000 คันต่อสัปดาห์ภายในปลายปีหน้า จึงนับเป็นก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จและความท้าทายครั้งสำคัญของเทสลาในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก

เทสลานับเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กจำเป็นต้องสร้างสายการผลิตขึ้นใหม่เพื่อรองรับการประกอบรถยนต์กว่า 40,000 คันต่อเดือน จึงทำให้เทสลาต้องใช้โรงงานผลิตขนาดมโหฬารและซัพพลายเชนมหาศาล จนเป็นที่มาของ “Gigafactory” ที่ถูกสร้างขึ้นแห่งแรกที่มลรัฐเนวาด้าในอเมริกา มีพื้นที่การผลิตกว่า 4.9 ล้านลูกบาศก์ฟุตและเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างสมบูรณ์ 

โดยสามารถผลิตลิเธียมไอออนแบตเตอรี่ 35 gigawatt-hours (GWh) ต่อปีหรือมากกว่าจำนวนการผลิตแบตเตอรี่ของทั้งโลกรวมกันเพื่อรองรับการผลิตของ Model 3 ทั้งนี้เทสล่ายังมีแผนการสร้าง Gigafactory แห่งที่สองในเมือง Buffalo มลรัฐนิวยอร์คและแห่งต่อไปในยุโรป

อัพเกรดสู่รถยนต์ไร้คนขับ

อีลอนและทีมงานเทสลาไม่ได้วางแผนที่จะการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้คนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังออกแบบรถยนต์ให้พร้อมต่อการอัพเกรดให้เป็นรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) ในอนาคตอีกด้วย

ความชาญฉลาดของเทสลาในการออกแบบรถยนต์และความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัล ทำให้รถยนต์เทสลาสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่านการดาวน์โหลด Over-The-Air (OTA) จากศูนย์กลางไปอัพเดทซอฟต์แวร์ยังรถยนต์แต่ละคัน ด้วย การทำงานของระบบ OnBoard Supercomputer ที่ผลิตจากบริษัท Nvidia ร่วมกับการทำงานของกล้อง เรดาร์และเซนเซอร์ที่ติดตั้งมากับรถยนต์ที่มาพร้อมระบบ Autopilot ได้ช่วยเริ่มต้นให้เทสลาพร้อมเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไร้คนขับเมื่อซอฟต์แวร์ทำงานได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ โดยอีลอนหวังว่าจะได้เห็นการทดสอบระบบรถยนต์ไร้คนขับของเทสลา โดยการที่รถยนต์จะขับจากลอสแองเจลิสไปนิวยอร์คภายในต้นปี 2018

นอกจากนั้นเทสลายังได้ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้ากึ่งรถบรรทุก (SemiTruck) ในปลายปี 2017 เพื่อลงชิงความเป็นเจ้าสนามกับคู่แข่งอย่างกูเกิลที่ส่งบริษัทลูกชื่อ Waymo ออกมาทดสอบรถบรรทุกไร้คนขับ (Self-Driving Truck) ร่วมกับอูเบอร์ที่ส่งรถยนต์จากบริษัทลูกชื่อ Otto ออกมาแข่งขันกับรถยนต์ค่ายใหญ่อย่างวอลโว่และเดมเลอร์อีกด้วย

เจ้าตลาดรถยนต์และจีนร่วมชิงชัย

ไม่เพียงแต่กูเกิล เทสลาหรืออูเบอร์ที่เปิดฉากช่วงชิงความเป็นหนึ่งแห่งนวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับเท่านั้น ค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่างบีเอ็มดับเบิลยู ออดี้หรือกลุ่มโวลค์สวาเก้น และนิสสันต่างเร่งเครื่องพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับเพื่อป้อนสู่ตลาด

ในขณะที่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ในปี 2016 มีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ถึง 336,000 คัน เมื่อผนวกความแข่งแกร่งด้านนวัตกรรมดิจิทัลเข้ากับความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในปัจจุบันจึงทำให้จีนมีโอกาสสูงในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับออกจำหน่ายเช่นกัน จนทำให้ Baidu เจ้าของเสิร์ชเอ็นจิ้นรายใหญ่ของจีนลงทุนในโครงการรถยนต์ไร้คนขับกว่า 100 โครงการด้วยเงินกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในระยะ 3 ปี

แรงกระทบจากนวัตกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตรถยนต์มาสู่การผลิตรถยนต์ไร้คนขับย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ จากสายการผลิตไปจนถึงซัพพลายเชน เทคโนโลยีและบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแรงผลักดันสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (4IR) และสร้างกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและความเท่าเทียมของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้นธุรกิจและบุคคลากรจึงต้องปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น