มองหุ้นถูกแพงด้วย P/E Ratio

มองหุ้นถูกแพงด้วย P/E Ratio

มองหุ้นถูกแพงด้วย P/E Ratio

เมื่อพูดถึงการประเมินมูลค่าหุ้น การใช้ P/E ratio นับว่าเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่น้อยคนนักที่เข้าใจถึงแก่นแท้ และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเชื่อของนักลงทุนส่วนใหญ่มักมองว่าหุ้นที่มี P/E ต่ำเป็นหุ้นที่ถูก ซึ่งการคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากการหา P/E นั้นคือการนำราคาหุ้นมาหารด้วยกำไรต่อหุ้น แต่บางครั้งบริษัทมีกำไรพิเศษเข้ามาทำให้ตัวกำไรมีมากกว่าในช่วงปกติ เมื่อคำนวณหาค่า P/E จึงผิดเพี้ยนไปในลักษณะต่ำกว่าปกติ

อีกทั้งวิธีการดังกล่าวเป็นการประเมินมูลค่าแบบ Relative Valuation ที่เมื่อได้อัตราส่วน P/E มาแล้วยังต้องนำไปเปรียบเทียบความถูก/แพง จากข้อมูลในอดีตของตนเองหรือเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน, มีโครงสร้างรายได้คล้ายคลึงกัน โดยการคำนวณ P/E Ratio มีสองแบบคือ Trailing P/E ที่จะใช้ราคาหุ้น (P) นำมาหารด้วยกำไรต่อหุ้น (EPS) ย้อนหลัง 12 เดือนซึ่งจะเป็น P/E ในอดีตของหุ้นตัวนั้นๆ และForward P/E จะใช้ราคาหุ้นมาหารด้วย”ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นทั้งปี” จะได้ Forward P/E

ตัวอย่าง (1) การหาค่า Forward P/E: หุ้น XYZ ราคาหุ้นละ 28 บาท มีการประมาณการกำไรของปี 2560 ที่ 2 บาทต่อหุ้น ดังนั้น Fwd’ P/E ของหุ้น XYZ ในปี 2560 =14 เท่า ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของหุ้น XYZ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เท่า นักลงทุนสามารถบอกคร่าวๆ ได้ว่า หุ้น XYZ ถูกกว่าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี Fwd’ P/E คำนวณมาจาก “ประมาณการกำไร” ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ ดังนั้น P/E ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ก็ชดเชยด้วยความง่ายจึงนิยมใช้กันแพร่หลาย

หากนักลงทุนต้องการเปรียบเทียบหุ้นต่างอุตสาหกรรมสามารถทำได้โดยใช้วิธี “PEG” หรือ P/E to Growth ที่เป็นการต่อยอดจาก P/E โดยเปรียบเทียบ P/E กับอัตราการเติบโตของกำไร ตัวอย่าง (2) หุ้น AAA ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต มีค่า P/E 20 เท่า มีการเติบโตของกำไรสุทธิ 15% ต่อปี จะได้ PEG ที่ 1.33 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้น BBB ที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่มีค่า P/E 35 เท่า มีการเติบโต ของกำไรสุทธิ 30% ต่อปี จะได้ PEG ที่ 1.16 เท่า ค่า PEG นั้นยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะหมายถึง P/E ที่ต่ำเมื่อเทียบกับการเติบโตของผลกำไร ดังนั้นตัวอย่างนี้ หุ้น BBB จึงถูกกว่า AAA แม้จะมี P/E สูงกว่า

ในการคำนวณ P/E นั้น มีข้อควรระวังที่สำคัญเพราะไม่ว่าเราจะเลือกใช้ Trailing P/E หรือ Forward P/E ยังมีผลของ กำไรพิเศษ ให้ทำการหักรายการพิเศษออกไปเพื่อได้ Normalized Profit นำมาใช้คำนวณได้อย่างไม่ผิดพลาด นอกจากนี้ค่า P/E นั้นยังไม่สามารถใช้กับบริษัทที่ขาดทุนได้ ผู้เขียนจึงอยากจะทิ้งท้ายว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จในการประเมินมูลค่าหุ้น” เนื่องจากทุกวิธีล้วนตั้งอยู่บนสมมติฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนที่ดีควรจะต้องเลือกใช้เครื่องมือหลายตัวประกอบกัน และผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ และถี่ถ้วนก่อนเสมอ