ศาสตร์ของพ่อกับการเติบโตของธุรกิจ

ศาสตร์ของพ่อกับการเติบโตของธุรกิจ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ว่าเราจะสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) มาใช้เป็นแนวทางการในการพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งหากนำมาเทียบกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติที่มีอยู่ 17 ข้อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดของสหประชาชาติต่างก็มองเรื่องเดียวกัน คือการพัฒนาที่ให้ความสำคัญความผาสุกของคนในประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันแบบไม่ลืมหูลืมตาเพื่อสร้างความร่ำรวย แต่ที่น่าทึ่งคือ พระองค์ทรงคิดถึงเรื่องนี้ก่อนไว้ล่วงหน้ากว่า 40 ปีแล้ว

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกมิติตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับประเทศ ด้วยเหตุนี้พระองค์ท่านจึงได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ผู้ทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนา ไม่ใช่การปั่นเม็ดเงิน แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างคนและสภาพแวดล้อม

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาประเทศ มีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันอยู่ชัดเจนแล้วว่าได้ผลดีจริง แต่การเอาหลักการนี้ไปใช้ในภาคธุรกิจ อาจยังมีข้อกังขาว่าจะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร ถ้านำไปใช้แล้ว ธุรกิจจะยังสามารถแข่งขันได้หรือเปล่า

คำตอบก็คือ สามารถนำไปปรับใช้ได้ และปรับใช้ได้ดีเสียด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจมั่นคงแล้ว หลักการนี้ยังช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้ดีขึ้นอย่างมาก

ขณะที่ธุรกิจน้อยใหญ่กำลังถูกมายาคติครอบงำว่า จะต้องโตให้เร็ว ยิ่งเร็วยิ่งดี แม้อายุจะน้อยก็ต้องมีร้อยล้าน จนทำให้ทำอะไรเกินตัว สุดท้ายแล้วมักสะดุดขาตัวเองล้มไม่เป็นท่า

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ธุรกิจมุ่งเป้าไปยังการสร้างกำไรให้เร็ว ให้เยอะ จึงมักละเลยมิติอื่นซึ่งมีความสำคัญต่อธุรกิจ เช่น การรักษาคุณภาพของสินค้า การตลาดที่สะท้อนคุณค่าที่แท้จริง ไม่ใช่การโฆษณาแบบฉาบฉวยสร้างกระแส การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การดูแลลูกค้า การตอบแทนคืนสู่สังคม ตลอดจนถึงการดูแลบุคลากรของตนเองให้รู้สึกว่างานที่ทำมีความหมาย มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรพยายามจะทำงานให้ดีขึ้น ผลงานดีขึ้น ย่อมหมายถึงผลประกอบการที่ดีขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ การเติบโตเร็วเกินไปโดยที่โครงสร้างขององค์กร และบุคลากรในองค์กรยังไม่มีความพร้อม ยังส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวด โตหวือหวาได้ไม่นานก็สะดุด ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ เนื่องความซับซ้อนขององค์กรมีมากกว่าเกินที่เจ้าของกิจการจะปรับวิธีคิดตามได้ทัน

งานวิจัยทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยได้ข้อสรุปตรงกันว่าธุรกิจที่เติบโตตามจังหวะอย่างเหมาะสม มีการวางแผนระยะยาว ไม่ก่อหนี้ยืมสินเพื่อกระตุ้นการเติบโตให้เร็วเกินไป กลับมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว เน้นการทำธุรกิจแบบฉาบฉวย ซึ่งการก้าวย่างไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเช่นนี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ที่สำคัญ คือ เมื่อธุรกิจไม่ทำอะไรจนเกินตัว จะมีแนวทางในการวางกลยุทธ์ขององค์กรอย่างรัดกุม หากจำเป็นต้องเสี่ยง ก็จะเสี่ยงในขอบเขตที่เหมาะสม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้ธุรกิจเจ็บตัว แต่ก็ไม่หนักหนาสาหัสจนต้องล้มหายตายจากไป

หลักการออกแบบองค์กรเพื่อให้สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ เป็นหลักการสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพของรายได้ ซึ่งอาจจะรู้สึกขัดใจหลายคนที่คุ้นเคยกับหลักการลงทุนว่า “เสี่ยงมากก็ได้มาก” ทั้งที่ความจริงแล้ว เสี่ยงมากก็ได้มากเพราะโอกาสเสียมีเยอะ จะได้สักทีก็เลยต้องได้ให้คุ้มกับที่จะเสีย ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจที่อยู่กับความเสี่ยงหวือหวาทุกวัน เราจะวางแผนทุกอย่างบนฐานของความหวาดกลัว ความไม่แน่นอน ได้ดีแค่ไหนกัน

สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการวางแผนทางธุรกิจในระยะยาว เพราะการแบกรับความเสี่ยงทำให้ไม่สามารถมองไกลได้ เมื่อมองไกลไม่ได้ การจัดสรรทรัพยากรและกำลังคนก็มีไว้เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นที่เกิดจากความเสี่ยง ความไม่พอ การทำอะไรเกินตัว

ในทางกลับกัน เมื่อทำธุรกิจด้วยหลักการ พอประมาณ” “มีเหตุผลและ มีภูมิคุ้มกันหรือก็คือ เสี่ยงน้อยเพื่อได้น้อยเป็นการเติบโตแบบพอประมาณตามความพร้อม ตามกำลัง ตามทรัพยากร ซึ่งแม้จะช้ากว่า แต่เป็นการได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง มีภูมิคุ้มกันต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อธุรกิจมีเสถียรภาพ ความกังวล ความหวาดกลัว แรงกดดันที่มีก็ลดลง ทำให้สามารถเลือกกลยุทธ์ที่ดีต่อองค์กรในระยะยาวได้

น่าภูมิใจที่แนวคิดของพระองค์ท่านมีหลักฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนา เชื่อได้ว่าหากธุรกิจไหนเข้าใจศาสตร์ของพ่ออย่างแตกฉานจนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ธุรกิจนั้นย่อมเติบโตอย่างยั่งยืน และหากมองในภาพรวมของประเทศ เมื่อธุรกิจมีความมั่นคง ก็มีส่วนช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนเช่นกัน