สังคมคนแก่ : วาทกรรมเพื่ออำนาจของคนแก่

สังคมคนแก่ : วาทกรรมเพื่ออำนาจของคนแก่

ผมขอนิยามคำว่าวาทกรรมว่ามีควมหมายถึงชุดของคำอธิบาย/ความรู้ในเรื่องหนึ่งๆ และชุดการอธิบาย/ความรู้นั้น

จะทำให้คนบางกลุ่มได้อำนาจมากขึ้น และคนบางกลุ่มต้องอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ชุดนั้น ซึ่งผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านช่วยกันมองช่วยกันคิดให้มากขึ้นสักหน่อยนะครับ เพราะในวันนี้เอง หากเราไม่ระมัดระวังจัวให้เพียงพอแล้ว ชุดความคิดบางเรื่องจะสถาปนาขึ้นมาเป็นเสมือนความจริงแท้และจะส่งผลให้เกิดปฏิบัติการณ์ของวาทกรรมที่ต่อเนื่องไปจนก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย

โดยเฉพาะ ในช่วงนี้ ผมคิดว่าการสร้างวาทกรรมเรื่อง สังคมคนแก่กำลังครอบงำสังคมไทยอย่างน่ากังวลครับ กรอบการอธิบายความจริงทางสังคมคนแก่ชุดนี้กำลังเปิดทางให้กลุ่มคนแก่ในระบบราชการ/องค์กรต่าง (ที่ครองอำนาจอยู่) ได้ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกนาน

เราหลีกหนีความจริงบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมคนแก่ไม่ได้ แต่เราก็ต้องระวังไม่ให้วาทกรรม สังคมคนแก่ครอบงำสังคมจนเราไม่ได้แยกแยะอะไร เพราะการพูดถึงสังคมคนแก่นั้น มักจะเป็นการพูดแบบเหมารวม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถแบ่งคนแก่ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ คนแก่ที่เป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไปซึ่งมีจำนวนมากมาย กับคนแก่ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงๆ ของระบบราชการ/องค์กรต่างๆ เราต้องแยกแยะเพราะหากไม่แยกแยะ ก็จะทำให้เรามองอะไรพลาดและถูกครอบงำไปอย่างน่าเสียดาย

แน่นอนครับ ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องสังคมคนแก่ เพราะว่าอัตราการเกิดของคนไทยลดลงและคนแก่มีอายุยาวนานขึ้น อาจารย์เตียง ผาดไธสง ได้เตือนคนในสังคมไทยมานานแล้วว่าอัตราการเกิดของเด็กนั้นน้อยลงเรื่อยๆ ( เพราะการคุมกำเนิด ) และต่อไปสังคมไทยจะมีแต่คนแก่ แต่น่าเสียดายที่ในวันนั้น คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้คิดตามอาจารย์เตียง สังคมจึงไม่ได้เตรียมการอะไรรองรับไว้ก่อน แต่ในวันนี้ คนไทยกำลังถูกทำให้ “ตื่นตระหนก” ( Panic ) กับการเกิดขึ้นของสังคมคนแก่ และถูกทำให้ยอมรับมาตรการหรือปฏิบัติการทางวาทกรรมของสังคมคนแก่อย่างมองไม่เห็นผลเสีย ที่สำคัญ ได้แก่ ความพยายามจะให้คนแก่ที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ระดับบนของสังคมทำงานต่อเนื่องต่อไป

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่สังคมต้องเตรียมตัวสร้างระบบและโครงสร้างต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้คนแก่คนธรรมดาสามัญมีชีวิตที่ดำเนินไปได้อย่างไม่กระทบกระเทือนและมีความสะดวกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการอ้างแบบฉวยโอกาสโหมประโคมประเด็น “สังคมคนแก่” แล้วหาทางเปิดโอกาสให้คนแก่ในระบบราชการและองค์กรของรัฐอื่นๆ ได้ต่ออายุการทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไป เพราะหากคิดกันให้ดีๆ การที่คนแก่นั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมกีดกันคนรุ่นใหม่ไม่ให้มีโอกาสเติบโตและมีส่วนรับผิดชอบสังคม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความยั่งยืนของสังคม

หากเรามองกลุ่มคนที่มีอำนาจในวันนี้ ก็จะพบว่ามีแต่คนแก่ และคนแก่เหล่านี้เองกำลังจะใช้วาทกรรมสังคมคนแก่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตน ในขณะที่การเตรียมการให้คนแก่ธรรมดาสามัญมีชีวิตที่ดีนั้นกลับไม่ได้ก้าวหน้าอะไรสักเท่าไร

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง ปฏิรูประบบราชการแล้วเกษียณอายุข้าราชการที่ 65 ปี สนับสนุนนายกพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ที่ปฏิเสธการต่ออายุข้าราชการไปจนถึง ๖๕ ปี และผมได้เน้นว่า “ปัญหาในระบบราชการที่หมักหมมมานาน ปัญหาหนึ่งได้แก่การขาดความรับผิดชอบต่องานโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุราชการมากและเป็นนายคนอื่น กลุ่มคนกลุ่มนี้มักจะเลี่ยงการตัดสินใจใดๆ และมักจะทำงานอะไรตามที่เคยทำมาไม่สามารถที่จะสร้างสรรอะไรได้เพิ่มไปจากเดิม เปรียบได้กับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงกล่าวว่าเป็น โรคหินหักกับต้นโพ ซึ่งรังแต่จะก่อปัญหาในการเจริญเติบโตของต้นโพธิ์ สำหรับผมเองคิดว่าหากจะต้องต่ออายุราชการให้แก่ “หินหัก” เพื่อให้อยู่กับ “ต้นโพธิ์” ต่อไปก็คงจะไม่ได้เห็นการเติบโตอย่างมีรูปทรงสวยงามเยี่ยงต้นไม้ใหญ่แน่ๆ”

ในวันนี้ กลับต้องมาโต้แย้งรัฐบาล ที่ออกมาพูดเรื่องการจ้างงานหลายรูปแบบแทนอัตราคนเกษียณเพราะหากจะทดแทนอัตราที่ว่างลง ก็ต้องคิดถึงการสร้างงานให้คนรู้สึกถึงความมั่นคง ซึ่งจะทำให้เขาทำงานอย่างแข็งขันมากกว่าที่จะทำงานอย่างไม่มั่นคง การไม่เปิดรับ/แช่แข็งจำนวนข้าราชการ แต่กลับหลีกเลี่ยงด้วยการจ้างลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้นนั้น อย่างที่ทำกันอยู่ทุกหน่วยงานในวันนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบราชการเลยแม้แต่น้อย เพราะยิ่งกลับทำให้เทอะทะและคนก็ทำงานไม่ได้เต็มที่

หรือที่คนแก่ทั้งหลายพยายามวางแผนกำหนดอนาคตประเทศล่วงหน้าไป 20 ปีก็เป็นเรื่องของวาทกรรมที่จะให้คนแก่อยู่ต่อไปอีก 20 ปี (ฮา คิดได้ยังไงครับ วางแผน 20 ปีสำหรับโลกที่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ )

การทำให้สังคมไทยตื่นตระหนกกับการเกิดขึ้นของสังคมคนแก่หรือวาทกรรมสังคมคนแก่เช่นนี้ กลับทำให้เกิดปฏิบัติการณ์ที่หมกเม็ดโดยที่สังคมไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรสักเท่าไร

ในการเผชิญหน้าสังคมที่มีคนแก่มากขึ้นในอนาคต สังคมไทยต้องช่วยกันสร้างความมั่นคงให้แก่คนหนุ่มสาว (ที่ยังไม่แก่ ) เพื่อที่พวกเขาจะได้มีพลังในการแบกรับภาระของพวกเราคนแก่ทั้งหลาย และคนหนุ่มสาวเหล่านี้คือคนที่จะนำพาสังคมไปสู่อนาคต

สังคมไทยต้องระวังกันให้มากหน่อยนะครับ เพราะชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นไม่ใช่ความรู้ที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่วาทกรรมสังคมคนแก่เท่านั้นนะครับ เพราะว่าด้วยพลังของสื่อมิติต่างๆจะสามารถทำให้เราตกอยู่ภายใต้วาทกรรมชุดใดชุดหนึ่งง่ายมากขึ้น