รายได้ปานกลางควรเป็นเป้าหมาย มิใช่กับดัก

รายได้ปานกลางควรเป็นเป้าหมาย มิใช่กับดัก

ในช่วงนี้ บ่อยครั้งสื่ออ้างถึงความทุรนทุรายของทั้งรัฐบาลและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจเรื่องกับดักของรายได้ปานกลางและนโยบายที่จะผลักดันให้คนไทย

มีรายได้เกินปานกลาง ขอเรียนว่าความทุรนทุรายและนโยบายที่ตามมาเกิดเพราะความไร้เดียงสามากกว่าความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่พ่อหลวง ร. 9 เสด็จสู่สวรรคาลัย จึงขออธิบายจากมุมมองของหนังสือซึ่งเขียนขึ้นสำหรับในช่วงนี้ หนังสือชื่อ เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) และอาจนำไปเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนหัวใจของ ศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญยิ่งของพระองค์ท่านแต่รัฐบาลกลับอ้างถึงแบบไม่จริงใจเป็นรายวัน

ในเบื้องแรก ทั่วโลกพยายามเดินตามแนวคิดที่ว่ายิ่งบริโภคมากเท่าไร ความสุขกายสบายใจอันเป็นเป้าหมายของชีวิตจะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทุกประเทศจึงผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเพื่อหวังให้ประชาชนมีรายได้และบริโภคได้ในระดับสูง แต่มันเป็นไปไม่ได้เพราะโลกมีทรัพยากรไม่พอ ซ้ำร้ายทรัพยากรหลายอย่างยังร่อยหรอลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้มีบรรณานุกรมซึ่งอ้างถึงหนังสือหลายเล่ม เนื้อหาของหนังสือเหล่านั้นมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งต่างสรุปไว้ในแนวเดียวกัน นั่นคือ โดยทั่วไปมนุษย์เรามีความสุขกายสบายใจต่ำเมื่อมีรายได้ไม่พอแก่การซื้อหาปัจจัยมาสนองความจำเป็นของชีวิต เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไป ความสุขกายสบายใจจะเพิ่มขึ้นไปคล้ายเงาตามตัว แต่หลังจากรายได้เพิ่มขึ้นไปเกินในระดับกลาง ความสุขกายสบายใจจะไม่เพิ่มขึ้นไปคล้ายเงาตามตัว ในหลายๆ กรณีกลับลดลง

ผู้ติดตามเหตุการณ์ในอเมริกาคงทราบดีว่า แม้ชาวเมริกันโดยทั่วไปจะมิให้ความสำคัญแก่ข้อสรุปดังกล่าว แต่พวกเขามองเห็นความสำคัญของชนชั้นกลางและการลดลงของชนชั้นกลางสร้างปัญหาสารพัด การลดลงนั้นเกิดขึ้นเพราะผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในช่วงหลังๆ นี้ไปตกอยู่ในมือของเศรษฐีกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียวส่งผลให้เกิดปัญหาซึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำที่กำลังร้ายแรงขึ้น อเมริกายังแก้ปัญหานี้ไม่ได้เพราะในช่วงนี้กลุ่มเศรษฐีมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองส่วนใหญ่ นโยบายเศรษฐกิจจึงมักเอื้อให้เศรษฐีได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน รายได้ของคนไทยอยู่ในระดับ 4 หมื่นบาทต่อเดือนหากคิดตามกำลังซื้อเชิงเปรียบเทียบของเงินบาทซึ่งจัดได้ว่าอยู่ในระดับกลางเพราะเป็นรายได้ที่อาจใช้ซื้อหาปัจจัยมาสนองความจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตได้อย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำกว่านั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การเอื้อให้กลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องไปตกอยู่ในมือคนกลุ่มนี้ มิใช่ในมือของเศรษฐีที่ชักใยอยู่ข้างหลังผู้กำหนดนโยบายเช่นเดียวกับในอเมริกา กับดักของสังคมไทยจึงมิใช่รายได้ปานกลาง หากเป็นนโยบายที่ไม่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไปตกอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่ยังมีรายได้ไม่ถึงปานกลาง

คนไทยกลุ่มใหญ่ที่มีรายได้ต่ำกว่าปานกลางได้แก่ชาวนา นโยบายที่ผ่านๆ มากระตุ้นให้ชาวนาบริโภคสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม นโยบายช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวพร้อมๆ ชาวนาต้องแบกภาระหนี้ ทั้งนี้เพราะการบริโภคของชาวนามิได้มาจากรายได้เพียงอย่างเดียว หากมาจากต้นทุนซึ่งได้จากการจำนองที่นาด้วย จะเห็นว่าชาวนาสูญที่นาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เศรษฐีสะสมที่ดินคนละนับหมื่นนับแสนไร่ ในสภาพเช่นนี้ ยากที่รายได้ของชาวนาจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับปานกลางซึ่งควรจะมองว่าเป็นเป้าหมาย มิใช่กับดัก

ในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พ่อหลวงทรงห่วงใยชาวนามากเนื่องจากพวกเขาติดกับดักของรายได้ในระดับต่ำ พระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องความจำเป็นที่จะต้องเอื้อให้คนไทยกลุ่มนี้พอมีพอกินก่อนตามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่ หากทำได้ ชาวนาไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงขั้นปานกลางอย่างแน่นอน ทว่าเป็นเวลานาน กลุ่มผู้นำในแต่ละรัฐบาลมิได้ศึกษาแนวคิดอันประเสริฐยิ่งนี้ให้เขาใจ ซ้ำร้ายยังให้ความสำคัญต่อแนวคิดของพระองค์เพียงแต่ปาก วันนี้ไม่มีพระองค์แล้ว แต่แนวคิดของพระองค์จะยังคงอยู่ตลอดไป