ทำไมญี่ปุ่นจึงไม่เจรจากับเกาหลีเหนือ

ทำไมญี่ปุ่นจึงไม่เจรจากับเกาหลีเหนือ

ในวิกฤตการณ์เกาหลีเหนือครั้งนี้ เกาหลีใต้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการแก้ปัญหาการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

โดยใช้การเจรจาเป็นหลัก ซึ่งการที่เกาหลีใต้มีท่าทีเช่นนี้เป็นเพราะเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เกาหลีเหนือจะโจมตี หากเกิดสงครามขึ้น และเกาหลีใต้ไม่มีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียอย่างหนักที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นซึ่งมีความเสี่ยงของการตกเป็นเป้าหมายของเกาหลีเหนือไม่ต่างจากเกาหลีใต้มากนัก กลับมีท่าทีต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะไม่เจรจากับเกาหลีเหนือและจะแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยมาตรการกดดันทางการค้า รวมไปถึงการมีท่าทีที่จะสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือในกรณีที่จำเป็น

ในสถานการณ์ที่สหรัฐและเกาหลีเหนือยั่วยุกันไปมาอย่างต่อเนื่องในขณะที่มาตรการกดดันทางการค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้นั้น การแสดงท่าทีว่าจะไม่เจรจาของญี่ปุ่นเท่ากับเป็นการผลักดันให้สถานการณ์เข้าใกล้จุดที่จะเกิดสงครามมากขึ้น 

ซึ่งท่าทีเช่นนี้ของญี่ปุ่นนำไปสู่คำถามสำคัญหนึ่งก็คือ เหตุใดญี่ปุ่นจึงเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่สงคราม? ทั้งที่หากเกิดสงครามขึ้นแล้วญี่ปุ่นจะต้องแบกรับต้นทุนของสงครามในระดับที่สูงมาก มีเหตุผลอื่นใดหรือไม่ที่ทำให้ญี่ปุ่นมีท่าทีเช่นนี้ นอกเหนือไปจากการยืนกรานของเกาหลีเหนือที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปโดยไม่ยอมเจรจา

การไม่เจรจาของญี่ปุ่นอาจมีที่มาจากการที่ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าการเจรจากับเกาหลีเหนืออาจนำไปสู่สถานการณ์ที่จีนฉวยโอกาสใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตนเองด้วยการพยายามโน้มน้าวให้สหรัฐลดบทบาทในเอเซียตะวันออกลงโดยการถอนทหารออกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพื่อแลกกับการยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลอาเบะไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากการถอนตัวออกจากเอเซียตะวันออกของสหรัฐหรือแม้แต่เพียงการลดบทบาทลงจะทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวในทางความมั่นคง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีข้อพิพาทด้านเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกะกุที่ญี่ปุ่นหวั่นเกรงมาโดยตลอดว่าจีนจะใช้กำลังทางทหารเข้ากดดันญี่ปุ่นเพื่อยึดครองหมู่เกาะนี้ในลักษณะเดียวกันกับที่จีนทำกับฟิลิปินส์และเวียดนามในข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสูญเสียที่พึ่งทางด้านความมั่นคงอย่างสหรัฐเป็นราคาที่แพงเกินไปสำหรับญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นราคาของการยุติภัยคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ตาม

ในขณะเดียวกัน การไม่ยอมเจรจาในสถานการณ์ที่สหรัฐและเกาหลีเหนือยั่วยุกันไปมาอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการสร้างแรงกดดันให้จีนร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐในการกดดันให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะถึงแม้จีนจะไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือล่มสลายจนกลายเป็นเหตุให้อิทธิพลของสหรัฐแผ่ขยายเข้ามาประชิดพรหมแดนของจีนผ่านการรวมประเทศโดยเกาหลีใต้ แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการเกิดขึ้นของสงครามในเอเซียตะวันออกในช่วงเวลาที่จีนกำลังขยายอิทธิพลของตนเองออกไปทั่วโลกจะทำให้ต้นทุนที่จีนจะต้องจ่ายเพื่อรักษาเกาหลีเหนือเอาไว้เป็นรัฐกันชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจีนเห็นว่าการปกป้องเกาหลีเหนือไม่มีความคุ้มค่าในทางยุทธศาสตร์อีกต่อไป และหันมาให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐอย่างจริงจังในที่สุด ในแง่นี้ กลยุทธ์การไม่เจรจาของญี่ปุ่นจึงคล้ายกับการเปิดประมูลความร่วมมือของจีนด้วยการลดราคาของการเป็นรัฐกันชนของเกาหลีเหนือลงด้วยการเพิ่มราคาของเสถียรภาพของเอเซียตะวันออกให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

ภายใต้สมมติฐานเช่นนี้ การยืนยันว่าจะไม่เจรจาจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำรับญี่ปุ่นในเงื่อนไขปัจจุบัน เพราะกลยุทธ์นี้จะปิดโอกาสของการเกิดขึ้นของการเจรจาที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ญี่ปุ่นไม่ต้องการ และในขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันจีนโดยอ้อม ด้วยการเพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์ให้มากขึ้นจนกระทั่งจีนเห็นว่าต้นทุนของการปกป้องเกาหลีเหนือสูงเกินกว่าที่จีนจะยอมรับได้ และในที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นจะสามารถยับยั้งภัยคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้โดยที่ยังคงรักษาอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเอาไว้เป็นที่พึ่งของตนเองต่อไปได้ 

ซึ่งพัฒนาการของวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายิ่งสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเท่าใด จีนก็จะยิ่งให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ การใช้กลยุทธ์ไม่เจรจาในวิกฤตการณ์เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกมวัดใจที่มีชีวิตของคนนับล้านเป็นเดิมพัน และถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะจีนให้ความร่วมมือช้าเกินไปหรือเป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุทางการทหารที่เป็นผลมาจากความตึงเครียดของสถานการณ์ ความสูญเสียที่ญี่ปุ่นได้รับจะสูงมากจนยากที่จะยอมรับได้ว่าความสูญเสียนั้นคุ้มค่ากับการที่เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไปโดยถาวร 

นอกจากนั้น กลยุทธ์ไม่เจรจานี้ยังสะท้อนถึงความอับจนเชิงโครงสร้างของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของญี่ปุ่นที่ไม่สามารถขาดการสนับสนุนจากสหรัฐได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าวิกฤตการณ์เกาหลีเหนือครั้งนี้จะยุติลงอย่างไรก็ตาม เอเซียตะวันออกก็จะยังคงมีปัญหาด้านเสถียรภาพต่อไปตราบเท่าที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังคงต้องการการคุ้มครองจากสหรัฐเพื่อรักษาความมั่นคงของตนเองเอาไว้ 

 ////

โดย... ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย