ทยอยปรับจีดีพี

ทยอยปรับจีดีพี

ทยอยปรับจีดีพี

ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยได้แสดงถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 และ 3 แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นเพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้นักวิเคราะห์ไม่กล้าที่จะปรับเพิ่มประมาณการณ์ เช่น การแข็งค่าของค่าเงินบาท ความไม่แน่นอนของผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯโดยเฉพาะนโยบายการกีดกันทางการค้า ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเกาหลีเหนือ การลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอ ฯลฯ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลให้ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาออกมาดีต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ก็ยังคงให้ความเห็นเชิงระมัดระวัง และเตือนถึงความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคทางด้านการใช้จ่าย เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ

แต่หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยแสดงถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดมาก และยังไม่มีท่าทีที่จะชะลอลงอย่างเช่นที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ว่าการส่งออกในช่วงปลายปีจะถูกผลกระทบจากฐานสูงและการแข็งค่าของเงินบาท ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐขยายตัวในระดับปานกลาง ส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทยอยปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจจริงในช่วงที่ผ่านมา โดย ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้และปีหน้าสู่ 3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5% และ 3.7% ตามลำดับ และปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกปีนี้เป็น 8% จากคาดการณ์เดิมที่ 5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้เป็น 3.7 – 4.0% จากเดิมคาด 3.5 – 4.0% และปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกเป็น 6.5 – 7.5% จากเดิมคาดโต 3.5 – 4.5% ในขณะที่สภาพัฒน์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีเมื่อเดือนสิงหาคมสู่ 3.5 – 4.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.3 – 3.8%

การที่หน่วยงานต่างๆปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพีขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตมากกว่าที่เคยประเมินไว้ และจะส่งผลดีด้านจิตวิทยา เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต ในส่วนของภาคธุรกิจ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ก็อาจจะปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคต เช่น อาจมีการโฆษณามากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิต ขยายธุรกิจ หรือลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซามานาน

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการส่งออกที่ขยายตัวแข็งแกร่ง การลงทุนภาครัฐที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดี จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นมาก และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมีน้อยลง เนื่องจากหากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใดชะลอตัวลง ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ยังคงหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มเป็นเชิงบวกมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือ การเติบโตของเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ยังไม่กระจายไปในทุกภาคส่วน ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น และส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อเนื่องไปยังผู้ที่ได้รับผลเชิงบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจให้เกิดความไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจดีเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆทราบถึงปัญหาในจุดนี้ดี จึงได้มีการพยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อรอดูประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ได้ดำเนินไปแล้ว

ทางด้านตลาดหุ้นไทยได้ตอบรับเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจมาแล้วพอสมควร โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,700 จุด โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข่าวที่นายกรัฐมนตรีคาดว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และอาจมีการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้การปรับขึ้นของดัชนีเป็นการปรับขึ้นก่อนการรายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 และก่อนการปรับคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มทยอยออกมา และนักวิเคราะห์เริ่มปรับประมาณการณ์ผลประกอบการสำหรับปีนี้และปีหน้า ตลาดหุ้นน่าจะมีปัจจัยมากำหนดทิศทางในอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้น