งานที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย

งานที่มีคุณค่าในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย

องค์การแรงงานระหว่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยและทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของวันงานที่มีคุณค่าสากลซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี

โดยเห็นความจำเป็นว่างานต้องมีประสิทธิผล ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการคุ้มครองสิทธิแรงงานคือพื้นฐานสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ

ตัวเลขประมาณการแรงงานทาสยุคใหม่ทั่วโลกที่จัดทำโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2559 มีแรงงานทาสยุคใหม่ 24.9 ล้านคน โดย 1 ใน 10 ของแรงงานทาสทั่วโลกเหล่านี้อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและในภาคการเกษตร

ความสนใจจากทั่วโลกที่มีต่อการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ภายใต้การดำเนินงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป) ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานจากการตกเป็นแรงงานบังคับ การบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการประเมินผลความคืบหน้าการใช้แรงงานที่ดีบนเรือประมงของประเทศไทยและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ

เนื่องจากความสำคัญของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าหน้าที่ และลูกค้านานาชาติผู้ซื้ออาหารทะเลไทย การติดตามความคืบหน้าของการทำงานที่มีคุณค่าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผลวิจัยที่จัดทำขึ้นในประเทศไทยโดยไอแอลโอ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการทำงานที่มีคุณค่า เช่น จำนวนแรงงานที่ทำงานโดยมีสัญญาจ้างได้เพิ่มขึ้นในปี 2560 มากกว่าปีทีผ่านมา การจ้างแรงงานเด็กมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมประมง แต่ในขณะเดียวกันการริดรอนสิทธิด้านอื่นๆ ก็ยังคงปรากฏอยู่ เช่น 1 ใน 3 ของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลรายงานว่าได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 1 ใน 4 ของแรงงานประมง ไม่ได้รับค่าจ้างบางส่วนเป็นเวลาหลายเดือน และ 52% ของแรงงานประมงเบิกเงินล่วงหน้าหรือกู้เงินจากนายจ้าง โดยส่วนใหญ่นำไปจ่ายค่าจัดหางาน

โดยตัวชี้วัด 2 อย่างหลังนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การยึดเงินค่าตอบแทนไม่จ่ายให้กับแรงงานคือหนึ่งในตัวชี้วัดการใช้แรงบังคับขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการติดหนี้ของแรงงานทำให้แรงงานมีภาระผูกพันในการใช้หนี้ให้กับนายจ้างส่งผลให้เกิดการใช้แรงงานขัดหนี้ การที่กระทรวงแรงงานได้ผ่านกฎหมายให้มีการกักเรือประมงที่ละเมิดกฎหมายไทย รวมถึงการเปรียบเทียบปรับ พนักงานตรวจแรงงานบางส่วนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว แต่ทั้งนี้การดำเนินการยังต้องอาศัยความทุ่มเทและการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาในจุดนี้

แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่งานที่มีคุณค่านั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากงานที่มีคุณค่าหมายถึงความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน การคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานให้กับครอบครัว การส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม และเสรีภาพในการรับข้อร้องเรียน จัดตั้งและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งยังหมายถึงการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในมิติหญิงชาย

เหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวังในการทำงานและการดำเนินชีวิต แต่ไม่ใช่ว่างานทุกงานจะเป็นงานที่มีคุณค่า และการทำให้งานมีคุณค่าก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 8 ส่วนแรงงานบังคับนั้นค้านกับการทำงานที่มีคุณค่า ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปของไทยจำนวนมากจากทั่วโลกตอนนี้ให้ความสนใจกับงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทาน เจ้าของกิจการสัตว์น้ำแปรรูปที่กำลังวางแผนการดำเนินงานในอนาคตได้เล็งเห็นแล้วว่าการที่จะคงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่สินค้าราคาถูกหรือสินค้าที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น แต่อยู่ที่การทำงานที่มีคุณค่าด้วย

//

โดย...

เจสัน จั๊ดด์ 

โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง สำนักงานประจำประเทศไทย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ 

 ** บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่สะท้อนท่าทีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือประเทศสมาชิก หรือเป็นการรับรองแต่อย่างใด