การเมือง เรื่องการตลาด เพราะการเลือกตั้งคือการแข่งขัน

การเมือง เรื่องการตลาด เพราะการเลือกตั้งคือการแข่งขัน

ชัดเจนแจ่มแจ๋ว หลังจากที่นายกรัฐประกาศว่าเดือนมิถุนายน2561จะประกาศวันเลือกตั้ง และ คนไทยจะได้เดินเข้าคูหาอีก5เดือนถัดไปคือเดือนพฤศจิกายน

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสัญญาณตอบรับจากภาคธุรกิจก็คงคึกคักมากขึ้นหลังจากนี้ เพราะบางส่วนเชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเรียกความมั่นใจจากเวทีโลกได้พอสมควร และจะส่งผลดีต่อนโยบายการค้า การลงทุน และบรรยากาศในการทำธุรกิจ ในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้องกันมาโดยตลอด

เราเคยได้ยินหนังสือเก่าแก่ที่อดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เคยแต่งเอาไว้ชื่อว่า’การเมือง เรื่องตัณหา’ ซึ่งก็เป็นความจริงที่พิสูจน์ผ่านกาลเวลามาแล้ว หากแต่ขึ้นชื่อว่าการเมืองแล้ว ต้องมีหลายหน้าหลายมุมให้ขบคิด วันนี้จึงขอมองมุม’การเมือง เรื่องการตลาด’ดูบ้าง จากงานวิจัยของ’ดร.ด็อก เจ ชุง(Doug J. Chung)’ อาจารย์จากฮาร์วาร์ด บิสิเนส สคูล(Harvard Business School)ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา และวิเคราะห์ในมุมการตลาดออกมา

โดยพบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีสื่อเป็นของตนเองหรือใช้เงินในการโปรโมตด้วยตนเองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้โหวตได้มากกว่าผู้สมัครที่เป็นตัวแทนหรือมีผู้สนับสนุนจากองค์กรอื่นอีกที และจุดยืนที่แตกต่างกันชัดเจนของบรรดาพรรคการเมืองทำให้เครืองมือที่ใช้ในการสื่อสารแตกต่างกันด้วย เช่น ผู้สมัครจากพรรครีพับบลิกันที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมควรใช้สื่อหลัก(Mass Media)เช่นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ กับการลงพื้นที่พบปะผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง(Retail Campaogning)จะได้ผลมากกว่าวิธีอื่น

ขณะที่พรรคเดโมแครตเหมาะที่จะใช้วิธีที่ลงลึกเจาะลงมากขึ้น(Field Operations)ทั้งการนัดพบกลุ่มย่อย การชวนเชิญทางโทรศัพท์ หรือการจัดประชุมก็ตามที เพราะผู้ที่เป็นฐานเสียงของพรรคจะเป็นคนเมืองหรือชนชั้นกลาง ซึ่งการนัดพบกลุ่มเป็นการเฉพาะจะสะดวก และมีประสิทธิภาพกว่า เรื่องนี้เห็นชัดเจนจากชัยชนะของ'บารัค โอบามา’ที่ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของเมืองลุงแซมถึงสองเทอม การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาแต่ละครั้ง ทั้งสองพรรคใหญ่ต่างใช้เงินจำนวนมหาศาลไม่ต่ำกว่าพรรคละ1พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากทุนที่ต้องหนา ลูกเล่นในการหาเสียง ชิงไหวชิงพริบก็ต้องไม่ธรรมดาด้วย  

ดร.ชุงให้คำแนะนำกับบรรดาพรรคการเมืองว่าควรเน้นจุดแข็งปิดจุดอ่อน(Play to your strengths and minimize your weakness)ซึ่งเป็นหลักการนำเสนอที่สำคัญอย่างงยิ่ง เหมือนกับสินค้าที่ต้องชู’คุณค่าหลัก(Core Value)’ที่แบรนด์มีขึ้นมาให้โดดเด่น ชัดเจน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าคุณค่าอันนี้ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ได้สร้างขึ้นมา ต้องเฟ้นหาในมุมที่คนอื่นไม่มีแต่เรามีให้ได้ จากนั้นก็สื่อสารการตลาดออกไปผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งในที่นี้ก็คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง ที่สำคัญจุดอ่อนหรือเรื่องฉาวที่เป็นชนักปักหลังก็ต้องจัดการอุดช่องโหว่ให้ดีที่สุดเพราะนี่คือสิ่งที่คู่แข่งจะใช้โจมตีตลอดเวลาเช่นที่นางฮิลารี คลินตัน ก้าวข้ามไม่พ้นเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวนั่นเอง

แต่การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกานั้นก็ไม่ได้เหมือนกับการทำการตลาดของสินค้าในโลกธุรกิจเสียทีเดียว ถ้าเป็นการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดที่แตกต่างกันออกไป ใครใคร่ใช้ก็ใช้ ใครใคร่ซื้อก็ซื้อตามการตัดสินใจของผุ้บริโภค แต่สำหรับการเลือกตั้งในแต่ละรัฐของดินแดนพญาอินทรี ถ้าใครเป็นผู้ชนะก็จะได้ครอบครองเสียงทั้งหมดไป(Winner takes all) การเมืองตีความได้หลายเรื่องครับ แต่ที่แน่ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนทุกคน ถึงเบื่อก็เลี่ยงไม่ได้