นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร

เมื่อพูดถึงเรื่องนวัตกรรม มักจะเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างคนทั่วไปหรือนักวิชาการในด้านอื่นกับนักวิชการกที่ศึกษาเรื่องนวัตกรรมโดยเฉพาะ

ในแง่ของการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม คำว่า “นวัตกรรม” ไม่ได้มีความหมายเฉพาะที่ตายตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คำนิยามที่มักจะยึดถือกันทั่วไปก็คือ การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ และประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าสามารถให้คุณค่าเพิ่มจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ นวัตกรรม ยังมี ความหมาย ลักษณะ และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ตามกลุ่มความสนใจที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ที่ธุรกิจพยายามใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในและภายนอก มาสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับถึงคุณค่าเพิ่ม และต้องการหาซื้อสิ่งแปลกใหม่นั้นมาใช้งานหรือบริโภค

ในธุรกิจคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ก็อาจจะมีคำนิยาม หรือแนวทางในการสร้างนวัตกรรม ที่แตกต่างไปจากธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งบ้าน อย่างสิ้นเชิงก็เป็นได้

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม และรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ที่จะใช้อ้างอิงเมื่อเอ่ยถึงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ

ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์อาหารจากการเกษตร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในระบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อาจได้แก่ เกษตรกรผู้ผลิต พ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อนำออกสู่ตลาด ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และผู้จำหน่ายหรือเจ้าของช่องทางที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้บริโภค

ห่วงโซ่คุณค่านี้ในปัจจุบัน ได้เชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่วโลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

การสังเคราะห์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อาจทำได้ใน 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์อาหาร และการพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการผลิต

สำหรับการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร การนำเสนอสิ่งใหม่ออกสู่ตลาดอาจทำได้หลายระดับ เช่น การพัฒนานวัตกรรมแบบพลิกโฉม ด้วย การนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ใหม่หรือเกิดจากการศึกษาวิจัยที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลก

ต่อมาจนถึง การนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่แล้วในรูปแบบที่แปลกใหม่กว่าเดิม การนำเสนอบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ การเปลี่ยนลักษณะภายนอก (เช่น จากผง เป็นของเหลว หรือ จากของเหลว เป็นวุ้น หรือเจล)

หรือการพัฒนานวัตกรรมแบบต่อยอดค่อยเป็นค่อยไป เช่น การปรับสูตรส่วนผสมใหม่ หรือการออกรสชาติใหม่ เป็นต้น

การพัฒนากระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร อาจทำได้หลากหลายกว่าการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่คุณค่าอาหาร โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลสารสนเทศจากดาวเทียม การใช้ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) การใช้เทคโนโลยีการพัฒนาดินและสารอาหารในดินและปศุสัตว์

การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใข้ในการพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ ให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน

ตลอดไปจนถึง เทคโนโลยีการทำความเย็นเพื่อถนอมอาหาร และเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ที่จะช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์อาหารให้นานขึ้นโดยยังรักษาความสดและคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน ซึ่งจะทำให้การขนส่งอาหารครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ในกระบวนทัศน์สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ยังมีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นได้อีกมากมาย หากเราไม่ลืมที่จะพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เพราะการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน จะต้องมีที่มาจากการใช้องค์ความรู้เป็นแหล่งเริ่มต้นสร้างความเป็นไปได้ของนวัตกรรม

ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือโชคช่วย !!??!!