ดันให้ถูกจุด

ดันให้ถูกจุด

ทุกวันนี้หากหลายๆ ท่านมีโอกาสได้เดินทางไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และลองเปิดโทรทัศน์ช่องท้องถิ่นดูจะพบว่า เราได้พบเห็นละครไทยมากขึ้น 

แต่ถ้าถามว่า มันเยอะแบบซีรีส์เกาหลีแล้วหรือยัง ก็คงยังไม่ใช่นะครับ เรายังไต่ไปไม่ถึงระดับนั้น แต่อย่างไรก็ถือว่าเป็น Good start อยู่ดี การที่เราขายคอนเทนต์ทางโทรทัศน์ เช่น ละคร หรือภาพยนตร์ออกไปนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะได้แค่เงินอย่างเดียว เพราะว่ามันก็เป็นเพียงเงินเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น 

แต่สิ่งที่เราได้จากการขายคอนเทนต์ทางโทรทัศน์เหล่านี้มันคือการที่ทำให้คนอื่นในโลกได้รู้จักประเทศไทยของเราแบบหลากหลายแง่มุมมากยิ่งขึ้น เช่น ได้เห็นหน้าตาประเทศของเราผ่านฉากในละคร เห็นสไตล์การแต่งตัวแบบของเรา ซึ่งเพิ่มโอกาสขายสินค้าแฟชั่นบ้านเราต่อไปได้ในอนาคต เหมือนที่เราดูซีรี่ส์เกาหลีแล้วอยากแต่งตัวตามพระเอก หรือนางเอกที่เราชื่นชอบ 

เมื่อยิ่งเห็นว่าพระเอกไทยกับนางเอกไทยหน้าตาดีด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชมคนไทยมากขึ้นไปอีก ปิดท้ายด้วยความรู้สึกที่ว่า อยากจะมาเยือนประเทศไทยสักครั้งหนึ่ง 

นี่แหละครับสิ่งที่เรียกว่า Soft Power และผมก็มองว่าเราน่าจะส่งออก Soft Power แบบนี้ได้มากขึ้นกว่านี้ หากภาครัฐลองทำความเข้าใจกับธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับโทรทัศน์ไทยมากขึ้น

ปีๆ หนึ่งเราผลิตภาพยนตร์ไม่เกิน 20 เรื่อง เงินที่ใช้ลงทุนแบบรวมการโปรโมทด้วยแล้วประมาณ 20-30 ล้านบาท เมื่อฉายในโรงภาพยนตร์ รายได้จำนวน 50% ก็แบ่งกับให้กับโรงภาพยนตร์ หลังจากนั้นก็จะถูกขายออกไปเป็น DVD หรือเคเบิ้ลต่างๆ ดังนั้น รายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเราจึงมีรายได้ปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาทเพียงเท่านั้น แต่กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ตอนนี้เรามีโทรทัศน์มากมายหลายช่อง มีการผลิตรายการออกมามากมายเพื่อป้อนให้แต่ละช่อง แต่ก็เกิดปัญหาคือมีหลายช่องมากเกินไปจนทำให้บรรดาผู้ประมูลทีวีต่างทยอยขายกันหมดและคุณภาพรายการโทรทัศน์ของเราตอนนี้ก็ตกลงไปเมื่อเทียบกับตอนเรามีเพียงแค่ 5 สถานี หรือ 5 ช่อง

ผมมองว่าการแก้ไขของปัญหานี้คือ จากเดิมที่ภาครัฐโฟกัสกับแค่วงการภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันไปสนับสนุนให้มีการขายคอนเทนต์ทางโทรทัศน์ออกไปมากขึ้นพูดง่ายๆ คือ เลือกสิ่งที่เราโดดเด่นออกไป เพราะในช่วงเวลานี้วงการโทรทัศน์เราโดดเด่นเหนือกว่าวงการภาพยนตร์แบบเห็นได้ชัดและคอนเทนต์ทางโทรทัศน์ของเราก็มีโอกาสสู้กับต่างชาติได้มากกว่าหากว่าวงการโทรทัศน์มีงบประมาณที่ได้จากการสนับสนุนมาใช้ในการผลิตมากขึ้น คุณภาพที่ออกมาก็สูงขึ้นและถูกส่งออกไปแบบสู้กับเจ้าอื่นได้สบาย แล้วโอกาสที่เราจะก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจของ Soft Power ของภูมิภาคนี้ก็จะมีมากขึ้น

ถ้ายุทธศาสตร์ประเทศไทยคือ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเน้นที่การคิดครั้งเดียวแต่สามารถขายได้หลายครั้ง นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดที่ภาครัฐควรหันมาเลือกใช้งบประมาณในการสนับสนุนวงการโทรทัศน์มากขึ้นนะครับ