นวนิยายฟอนตามาร่า-รัฐบาลที่ไม่ปล้นคนจนจงเจริญ!

นวนิยายฟอนตามาร่า-รัฐบาลที่ไม่ปล้นคนจนจงเจริญ!

นี่คือหนังสือนวนิยายเสียดสี ล้อเลียนรัฐบาลทหารฟาสซิสต์ของมุสโสสินี (ค.ศ. 1922-1949) ที่ได้กลายเป็นนวนิยายคลาสสิกสำหรับประชาชนทั่วโลก

 ที่มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมเป็นผู้พิมพ์ฉบับแปลปรับปรุงแก้ไขใหม่ ออกมาวางขายในช่วงงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ 18-23 ตุลาคมนี้

ฟอนตามาร่า ภาษาอิตาลีหมายถึง ลำธาร (น้ำพุ) ที่ขมขื่น ที่มาของเรื่องราวที่ชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่งในภาคใต้ของอิตาลีถูกนายทุนผู้มีอำนาจสมคบกับนักการเมืองขุดคลองส่งน้ำใหม่แย่งน้ำไปจากชาวบ้าน ส่วนประโยคที่ว่า รัฐบาลที่ไม่เคยปล้นคนจนจงเจริญ! ผมซึ่งเป็นผู้แปลเรียบเรียงนวนิยายเรื่องนี้ ดึงมาจากฉากหนึ่งที่รัฐบาลทหารส่งกองกำลังเข้าไปปิดล้อมหมู่บ้าน เพื่อปรับทัศนคติหรือให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ทหารเรียกชาวบ้านมาทดสอบความคิกทางการเมืองของแต่ละคน โดยให้เปล่งเสียงเชียร์ว่าใครจงเจริญ ตามทัศนคติของชาวบ้าน ความตั้งใจของทหารคือ อยากให้ชาวบ้านเปล่งเสียงเชียร์ว่า รัฐบาลมุสโสสินีจงเจริญ แต่ผู้เขียนเขียนให้ชาวบ้านแต่ละคนต่างตอบไปต่างๆ นานา รวมทั้งมีคนหนึ่งตอบแบบคิดว่าปลอดภัยแล้วว่า “รัฐบาลที่ไม่ปล้นคนจนจงเจริญ!” ซึ่งเป็นวิธีการเสียดสีที่มีทั้งอารมณ์ขันและความลุ่มลึกทางการเมืองมาก

อิกนาซีโอ ซิโลเน่ (ค.ศ. 1900-1978) ผู้เขียนเรื่องนี้มาจากครอบครัวชาวนายากจน ได้เรียนระดับมัธยมและเข้าร่วมขบวนการของชาวนา และต่อมาคือขบวนการสังคมนิยม เมื่อพรรคฟาสซิสต์ชาวนิยมขวาจัดของมุสโสสินีขึ้นมามีอำนาจในปี 1922 พวกสังคมนิยมถูกปรามอย่างต่อเนื่องในปี 1929 ซิโลเน่ต้องลี้ภัยไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอิตาลี ส่วนหนึ่งเพื่อพักรักษาตัวจากสุขภาพที่ทรุดโทรม เขาเขียนนวนิยายเรื่องฟอนตามาร่า ด้วยความคิดถึงบ้าน ตัวละครเอกเบอร์อาร์โดน่าจะได้แรงบันดาลใจในปี 1930 มาจากน้องชายของเขาที่ถูกตำรวจจับโดยยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์และต่อมาเสียชีวิตในคุก เขาเขียนอย่างเร่งรีบ เพราะคิดว่าตนเองอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก แต่เนื่องจากเขามาจากครอบครัวชาวนายากจนและประสบการณ์ที่ขมขื่นจริง เขาจึงเขียนเล่าเรื่องได้อย่างมีสีสันมาก

ฟอนตามาร่าเป็นเรื่องเล่าชีวิตของชาวนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งอย่างเรียบง่าย แต่สละสลวย มีชีวิตชีวา เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหา อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนชัดเจน สมจริง ถือเป็นนวนิยายเกี่ยวกับชาวนาที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง เท่าที่มีการเขียนกันมา ชาวนาที่ยากจนนั้นมีลักษณะด้วยกันทั่วโลก อ่านแล้วเหมือนอ่านเรื่องชาวนาไทยยุคก่อนที่ลาว คำหอม และคนอื่นๆ เคยเขียนถึง

ขณะเดียวกันเป็นนวนิยายเสียดสีล้อเลียนที่ชนชั้นสูงและชาวนาอย่างมีอารมณ์ขัน แม้จะเป็นอารมณ์ขันแบบกึ่งเศร้า เนื่องจากชาวนายากจน การศึกษาต่ำและซื่อ ถูกเอารัดเอาเปรียบหล่อหลอมจากคนในเมืองตลอด ทั้งจากนายทุนเจ้าที่ดินใหญ่ ชนชั้นผู้ปกครองสมาชิกสภาผู้แทนในท้องถิ่น ผู้เขียนเล่าเรื่องแบบเห็นความสมจริง เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เขียนแบบนวนิยายตามสูตรของวรรณกรรมกรรมาชีพหรือวรรณกรรมเพื่อชีวิต

แม้...เรื่องหนังสือใหญ่ การที่ชาวนาพยายามร้องเรียนเรื่องนายทุนใหญ่ขโมยแหล่งน้ำของเขาอย่างไม่ได้ผล และทำให้พวกเขาถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลฟาสซิสต์ว่าเป็นพวกหัวแข็ง และถูกเล่นงานหนักเข้าไปอีก แต่ผู้เขียนก็เล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความสนุกสนาน ได้เห็นเรื่องความรัก การช่วยเหลือกันและกันในหมู่ชาวนา มีตัวละครแบบพระเอกนางเอก และตัวประกอบอื่นๆ ที่มีเรื่องราวส่วนตัว เดินเรื่องควบคู่ไปกับชีวิตและปัญหาของหมู่บ้าน รวมทั้งเรื่องราวของชาวนาที่เข้าไปหางานทำในเมือง การได้พบกับกลไกรัฐบาลที่ไม่ตั้งใจจะช่วยคนจนจริงได้พบทั้งฝ่ายสปายสายลับของรัฐบาล และพวกปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่พยายามทำงานจัดตั้งชาวนาและกรรมกรเป็นนวนิยายที่มีทั้งเนื้อหาสาระ และศิลปะการเล่าเรื่องที่งดงาม และสร้างความสะเทือนใจ

หนังสือแปลฉบับล่าสุดนี้ปรับปรุงแก้ไขครั้งใหญ่ ซิโลเน่ผู้เขียนเองซึ่งมีชีวิตยืนยาวต่อมาจนถึงยุคที่ฟาสซิสต์มุสโสสินีถูกโค่นเพราะเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก้ไขต้นฉบับใหม่ ผู้แปลได้ปรับแก้ตามแต่คงรักษาบทหนึ่งเกี่ยวกับการที่ชาวนาคนหนึ่งไปหางานในเมืองไว้ตามต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกไว้ แม้ว่าผู้เขียนจะตัดออกในฉบับแก้ไขของเขา เพราะผู้แปลเห็นว่าช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมอิตาลีในยุคนั้นได้ชัดเจนขึ้น ฉบับพิมพ์ครั้งหลังนี้ผู้แปลได้แปลคำวิจารณ์ของลีออน ฟรอตสกี ผู้นำพรรคบอลเชวิด รุสเซีย ระดับรองจากเลนิน ผู้เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมคนสำคัญไว้ด้วย

นักวิจารณ์จากนิตยสารชื่อดังของโลกตะวันตก เช่น The New Yorker, The New York Times Book Review, The Saturday Review ต่างชมเชยนวนิยายเรื่องนี้เพื่อมีการแปลพิมพ์เผยแพร่ในเป็นภาษาอังกฤษ The New Yorker เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“ในนวนิยายที่สร้างความสะเทือนใจมากเรื่องนี้ แต่สามารถผสมไม่ได้ใช้สำนวนโวหารแบบนักอุดมคติ แต่สามารถผสมกลมกลื่นความเป็นจริงที่เหลมคมและอารมณ์ขันแบบเย้ยหยันตลอดจนการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงโดยไม่แสดงอารมณ์อ่อนไหว ทำให้ฟอนตามาร่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของโลก”

ผู้สนใจนวนิยายแปลเล่มนี้ ติดต่อได้ที่มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม โทร/ไลน์ 094-2037475 facebook: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม