เพซฯโยงหนี้สุดมึนกู้เงินไขว้กัน หวังแก้ขาดสภาพคล่อง

เพซฯโยงหนี้สุดมึนกู้เงินไขว้กัน  หวังแก้ขาดสภาพคล่อง

พิธีกร Stock Gossip by Money Wise ติดตาม live จ-ศ 14.15-14.30 น.

สภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการดำเนินธุรกิจทุกบริษัท เพราะทำให้ไม่สามารถมีเงินทุนมาใช้จ่ายหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการ ใช้จ่ายในการดำเนินงานในบริษัท ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดทั้งเจ้าหนี้ทางการค้า และสถาบันการเงินต่างๆ

ดังนั้นสิ่งที่บริษัทต่างหวาดกลัวและไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับบริษัทของตนเอง คือ เรื่องขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะไม่เพียงทำให้กิจการสะดุดแต่ยังมีผลต่อความน่าเชื่อ ความเชื่อมั่นการทำธุรกิจภายในอนาคตอีกด้วย

บมจ. เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการมหานครและโครงการมหาสมุทร ระดับ หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งบริษัทที่ขาดสภาพคล่อง ท่ามกลางการลงทุนอย่างหนักแต่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า  ทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบมาโดยตลอด

โดย 6 เดือนแรกปี 60 ติดลบ 332.12 ล้านบาท แต่ด้วยบริษัทมีเงินที่มาจากการกู้ยืมเข้ามาในระดับพันล้านบาทแถบทุกไตรมาสทำให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เรียกได้ว่าล่อเลี้ยงบริษัทด้วยการก่อหนี้

มูลค่าหนี้ทั้งระยะสั้นและยาวเกือบ 30,000 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) สูงถึง เลขสองหลักมาตลอด ส่วนผู้ถือหุ้นลดลงต่อเนื่อง และมีความกังวลใจว่าในอนาคตจะติดลบด้วยหรือไหม

ช่วงไตรมาส 2 ปี 60 เพซฯ สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาจากการรับรู้รายได้จุดชมวิว ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ และการร่วมลงทุนกับนักลงทุนรายใหม่ 2 ราย ในบริษัทย่อย ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นทางบัญชีทันที 8,856 ล้านบาท และงวดนั้นพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 5,492 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นกระโดดขึ้นมาเฉียด 7,000 ล้านบาท ดี/อี ลดลงเหลือ 4.38 เท่า

จากการมีผู้ร่วมค้า 2 ราย ตามที่แจ้งในงบการเงินตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 60 คือ Apollo Asia Sprint Holding Company Limited และ Goldman Sachs Investments Holdings (Asia) Limited แบ่งเป็น 7,783 ล้านบาทในส่วนของผู้ถือหุ้น และ 658 ล้านบาทในส่วนของการกู้เงิน

การมีผู้ร่วมทุนดังกล่าวเป็นที่มีตั้งคำถามตามมาอีกจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงการสูญเสียอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย และเกิดภาระผูกพันซื้อหุ้นบุริมสิทธิ กับผู้ร่วมทุน จนทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินในอนาคตอย่างไร

บริษัทย่อยดังกล่าว คือ บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน และ บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จากบริษัทย่อยกลายเป็นการร่วมค้า ส่วน บริษัทเพซ โปรเจ็ค ทู ยังคงสถานะบริษัทย่อยเหมือนเดิม  การเพิ่มสภาพคล่องเข้ามาอีกจึงให้บริษัทดังกล่าวกู้ยืมเงินจาก สถาบันการเงินภายในประเทศ 3,000 ล้านบาท

โดยมีเงื่อนไขคือกรรมการเพซฯ คือ กลุ่ม ‘เตชะไกรศรี’ ลงนามภาระผูกพัน ซื้อหุ้นบุริมสิทธิ ของเพซ โปรเจ็ค วัน และ เพซ โปรเจ็ค ทรี จากกลุ่มผู้ร่วมทุน ช่วง ส.ค. ปี 61 ที่มูลค่า 3,039 ล้านบาท

การกำหนดเป็นหุ้นบุริมสิทธิ เป็นการใช้สิทธิในฐานเจ้าหนี้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่จะไม่ได้รับสิทธิการออกเสียงเหมือนหุ้นสามัญ เท่ากับรายการที่เกิดขึ้น คือ การหาทางเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท ด้วยวิธีการทางบัญชีและตลาดทุนจะเอื้อได้

นอกจากนี้เพซฯ ยังมีการจัดโครงสร้างการกู้เงินไขว้กันไปมาระหว่างบริษัทย่อย กิจการร่วมค้า และ กลุ่มผู้ร่วมทุน

เพซ โปรเจ็ค วัน มีเจ้าหนี้ 3 ราย Apollo Asia Sprint และ Mercer Investment (Singapore) เพซ โปรเจ๊ค ทรี และเพซฯ รวม 6,979 ล้านบาท

เพซ โปรเจ๊ค ทู มีเจ้าหนี้ 3 ราย สถาบันการเงิน ,เพซ โปรเจ๊ควัน -เพซโปรเจ๊ค ทรี และ เพซฯ รวม 5,511 ล้านบาท

เพซ โปรเจ๊ค ทรี มีเจ้าหนี้ 1 ราย Apollo Asia Sprint และ Mercer Investment (Singapore) รวม 333 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ ประเมิน ถึงภาระที่เพิ่มขึ้นของเพซฯ ต้องหาเงินซื้อคืนหุ้นบุริมสิทธิ พร้อมผลตอบแทน ปีแรกน่าจะอยู่ที่ 815 ล้านบาท มีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นแต่ได้ยืดระยะเวลาออกไป ส่วนข่าวที่จะขายสิทธิ Dean&Deluca นอกสหรัฐ ฯ ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล มูลค่า 1,650 ล้านบาท เป็นปัจจัยบวกทำให้มีเงินสดเข้ามาลดความตรึงตัวทางการเงิน แต่ก็ถูกชดเชยด้วยการที่ก.ล.ต. สั่งให้ชี้แจง เรื่องหุ้นบุริมสิทธิ