กฎหมายนิวเคลียร์ กับอาชีพทันตแพทย์

กฎหมายนิวเคลียร์ กับอาชีพทันตแพทย์

ผมได้ร่วมสัมมนาเรื่องกฎหมายนิวเคลียร์ จัดโดย กมธ.สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันก่อน

ถ้าจะแสดงความเห็นในเรื่องนี้ในที่ประชุม ก็คงจะเป็นเสียงข้างน้อยอีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีโอกาสแสดงความเห็นอะไรในที่สัมมนาเพราะรู้สึกว่าคงไม่ทันเวลา เนื่องจากมีผู้พูดหลายคนบนเวที และข้างล่างก็มีหลายคนที่ขอแสดงความเห็น จนถึงเวลาปิดการสัมมนา แต่ได้ฝากความเห็นไว้กับเจ้าหน้าที่ของกรรมาธิการให้ส่งต่อถึงผู้ดำเนินการอภิปราย

ผู้ร่วมการสัมมนาส่วนใหญ่อยู่ในวงการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะทันตแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เนื่องจากมีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการใช้เครื่อง X-ray ที่ค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือมีสภาพบังคับในลักษณะที่จะต้องมีบุคคลากรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี หรือ RSO ประจำสถานที่ที่ใช้เครื่อง X-ray ในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีการใช้เครื่องมือนั้นหรือไม่ก็ตามด้วยสภาพบังคับเช่นว่านี้ ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ต้องรับภาระสูงขึ้นทั้งในด้านการมีเครื่องมือ X-ray ราคาแพงและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง และนั่นหมายความว่าภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านให้ผู้รับบริการทางทันตกรรมต้องรับผิดชอบ ประชาชนก็จะเดือดร้อนมากขึ้น

ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ทางทันตแพทยสภาและสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เคยมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแล้ว แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ยังไม่ยุติง่ายๆ เพราะกฎหมายฉบับใหม่มีอัตราโทษสูง ในขณะเดียวกันฝ่ายทันตแพทย์ก็พยายามแสดงความเห็นว่าโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการใช้เครื่อง X-ray ในคลีนิกทันตกรรมนั้นน้อยมาก จนไม่น่าจะอยู่ในบังคับของกฎหมายนิวเคลียร์ที่กำหนดโทษสูงขนาดนี้ และที่สำคัญก็คือนอกเหนือจากกฎหมายนิวเคลียร์แล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมยังอยู่ภายใต้กฎหมายอีกสองสามฉบับที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรม การที่กฎหมายนิวเคลียร์ออกมาบังคับให้ต้องอยู่ในความควบคุมของสำนักงานนิวเคลียร์เพื่อสันติอีก น่าจะเป็นอะไรที่มากเกินเหตุ สร้างภาระและค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น

ฟังจากผู้อภิปรายบนเวทีแล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นมุมมองที่แคบเกินไปสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนได้เสียในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม เพราะถ้าจะให้ครอบคลุมแล้วต้องมีภาคประชาชนผู้ใช้บริการมาแสดงความเห็นด้วย แต่การสัมมนาครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่มีภาคประชาชนมาแสดงความเห็นอย่างใด

ในฐานะที่เป็นประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง จึงอยากเสนอมุมมองอีกแง่มุมหนึ่งว่ากฎหมายนิวเคลียร์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2559 มีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 จะดีสำหรับประชาชนและผู้ใช้บริการอย่างไร

เรื่องของกฎหมายนิวเคลียร์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พัฒนามาจาก พรบ. พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 2504 แล้วก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมบ้างกว่าจะมาถึงฉบับปัจจุบัน ตามสถานการณ์และพัฒนาการของโลก

ความสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ต้องพูดถึง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องคือการใช้รังสี หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออนุภาคใดๆจากเครื่องกำเนิดรังสีเพื่อประโยชน์ในกิจการต่างๆ เท่าที่เห็นนอกจากเครื่อง X-ray ในคลีนิกทันตกรรมแล้ว โรงพยาบาลก็ใช้ในเครื่องแสกน หรือแม้กระทั่งด้านการเกษตรก็ใช้ที่เรียกว่าอาบรังสีผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นาน ส่งขายได้ไกลๆ และประโยชน์อีกมากมายหลายอย่าง

เนื่องจากไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ จึงไม่สามารถอธิบายอะไรได้มากนัก นอกจากในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ต้องใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในบางครั้งบางเวลา

กฎหมายนิวเคลียร์นั้นออกมาเพื่อปกป้องประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงเพื่อไม่ให้ต้องรับรังสีแบบสะสมซึ่งจะมีผลต่อร่างกายที่เรียกว่า stochastic effectซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือแม้โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง นอกเหนือจากที่ต้องรับผลที่เกิดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

สมัยที่เรียนกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เคยศึกษาเรื่องผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีที่มากับดาวเทียม COSMOS 954 ของรัสเซีย ที่ตกบนผืนแผ่นดินของแคนาดา ทุกคนกลัวว่าสารกัมมันตภาพรังสีไม่ใช่แค่เกิดและหายไปในวันที่ดาวเทียมดวงนั้นตกสู่พื้นโลก แต่จะฝังลึกอยู่ในน้ำในดินอีกนานแสนนาน ยิ่งไปกว่านั้นสัตว์และสิ่งมีชีวิตอาจต้องเจอกับสารปนเปื้อน พืชอาจดูดซึมสารกัมมันตภาพรังสี แล้วมนุษย์หรือสัตว์ที่กินพืชนั้นก็อาจได้รับสารกัมมันตภาพรังสีต่อ ไม่มีใครบอกได้ว่ากว่าสารเหล่านั้นจะเสื่อมสลายจนถึงขนาดไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์จะใช้เวลาอีกกี่สิบปี แม้กระทั่งยี่สิบปีก็อาจจะน้อยเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลทางอ้อม และแม้แคนาดาจะได้รับค่าชดเชยจากรัสเซียไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่คุ้มกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่อาจประเมินได้

บ้านเราก็เห็นได้จากหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีห้วยคลิตี้ที่มีสารตะกั่วตกค้างในลำห้วย ประชาชน สัตว์เลี้ยงพากันเจ็บป่วยล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะสารปนเปื้อนมีผลต่อเนื่องยาวนานนับสิบยี่สิบปีก็แก้ไม่ได้

สารกัมมันตภาพรังสีก็คงเหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้กับเครื่องมืออะไร ก็มีโอกาสสร้างความเสียหายได้ ถ้าไม่ได้รับการป้องกันที่ดีพอ และความเสียหายก็อาจจะมากถึงขนาดที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยงรับประกันภัย

กฎหมายนิวเคลียร์ของเราเป็นกฎหมายที่ออกมาเชิงป้องกันที่เรียกว่า Preemptive Approach คือกันไว้ก่อนเกิดปัญหา เพราะถ้าเกิดแล้วแก้ไม่ได้ เป็นอีกพัฒนาการของการออกกฎหมายบ้านเราที่คุ้นเคยอยู่กับการออกกฎหมายแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นหลัก แต่ในต่างประเทศนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเราจะรอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยออกกฎหมายอาจเป็นสิ่งที่สายเกินไป กฎหมายหลายฉบับที่หลายประเทศออกมา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเช่นสหประชาชาติ ก็ออกกฎหมายที่ใครคิดไม่ถึง เช่นกฎหมายอวกาศ (Space law) กฎหมายสนธิสัญญาดวงจันทร์ (Moon Treaty) กฎหมายการทำเหมืองแร่ในทะเลลึกน่านน้ำนานาชาติ (Deep Sea Mining law) กฎหมายพวกนี้ออกมาล่วงหน้าเพราะเขามองเห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งหลายอย่างก็เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องสร้างความสมดุลย์ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้เกิดต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้นกับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะถ้าเกิดต้นทุนที่สูงมากเกิน ผู้ประกอบการรับไม่ไหว ผู้บริโภคหรือผู้รับบริการก็ต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ความสมดุลย์อยู่ที่ไหน คงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องประนีประนอมปรึกษาหารือกัน และแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล

ในที่ประชุม มีการกล่าวถึงการพัฒนาประเทศในยุค 4.0 ว่า กฎหมายเช่นนี้จะทำให้ฉุดรั้งประเทศ เพราะบีบบังคับผู้ประกอบการมากเกินไป ในที่สุดภาระก็คงตกกับประชาชนที่ไม่มีทางเลือก และอาจมีผลกระทบกับแนวทางพัฒนาประเทศที่ต้องการขยายการให้บริการด้านสุขภาพกับคนทั่วโลกที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ ซึ่งงานทันตกรรมเป็นอาชีพหนึ่งที่ให้บริการชาวต่างประเทศมากและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล

แต่นั่นเป็นการมองในมิติเดียว เพราะถ้าหากเรามีการยกระดับการให้บริการมากขึ้น เครื่องมือและอุปกรณ์มีบุคคลากรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีหรือRSO ดูแลตลอดเวลาที่เปิดทำการ ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในคุณภาพการบริการที่น่าเชื่อถือมากขึ้น และน่าจะเป็นผลดีกับผู้ที่ต้องการมาใช้บริการในทางทันตกรรมในประเทศไทยมากขึ้น

สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ เรามีหลายทางเลือก ที่จะเลือกทางที่ดีที่สุด เรามีวิธีแก้ไขบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาระยะยาว ถ้าเราเปิดให้มีการอลุ้มอล่วยในการให้บริการที่ไม่พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และค่อยๆปรับให้ดีขึ้นก็น่าจะทำได้ ดีกว่าการหักด้ามพร้าด้วยเข่า แน่นอน

กฎหมายฉบับนี้น่าจะดีกับประชาชนผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ และควรคงไว้ต่อไป แต่ก็ควรจะมีการออกกฎระเบียบในลักษณะที่ผ่อนผันในช่วงเวลาหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจในวิชาชีพนี้

เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน ก็คงปรับตัวได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยในระยะยาว