รากฟันเทียมทำโดยหุ่นยนต์ แล้วผู้นำจะทำอะไร

รากฟันเทียมทำโดยหุ่นยนต์ แล้วผู้นำจะทำอะไร

รากฟันเทียม ทำโดยหุ่นยนต์ แล้วผู้นำ จะทำอะไร

ทันตกรรมรากฟันเทียม ราคาแพงเหยียบแสน สร้างฟันใหม่แทนซี่ที่หายไป คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น

ที่เมืองซีอานประเทศจีนเมื่อ2 สัปดาห์ก่อนหุ่นยนต์ ได้ลงมือทำรากฟันเทียมให้คนไข้ ได้สำเร็จอย่างสมบรูณ์ เป็นครั้งแรกในโลก โดยทันตแพทย์ตัวจริง ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น

ช่วง6 เดือนที่ผ่านมาผมไปดูงานเทคโนโลยี่มาแล้ว3 ครั้งเริ่มที่เกาหลีญี่ปุ่นจากนั้นก็หันทิศทางไปจีนพอกลับมาก็ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหลักสูตรมหานคร5 ในหัวข้อว่าคนที่เป็นผู้นำระดับสูง หรือค่อนข้างสูง ควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ก้าวต่อไปได้ในยุคดิจิทัล

ผมเล่าเรื่องว่าเมื่อ37 ปีก่อนเติ้ง เสี่ยว ผิง ได้ไปเยือนเมือง เซินเจิ้น ซึ่งอยู่ตอนไต้ของประเทศจีนตรงข้ามกับฮ่องกง เขามองเห็นตึกสูงตระหง่านมากมายทางฝั่งฮ่องกง ก็เลยประกาศว่า เขาจะทำให้ เซินเจิ้น เป็นเมืองทดลองในระบบทุนนิยม แต่ เซินเจิ้น ในขณะนั้นมีเพียงครอบครัวชาวประมงอาศัยอยู่ 30,000 คน เท่านั้น นอกจากนั้นไม่มีอะไรเลย แล้วฝันของเติ้ง เสี่ยว ผิง จะเป็นจริงได้อย่างไร

ใครที่ไปเยือนเซินเจิ้นวันนี้จะได้เห็นกับตาว่าฝันของเขาเป็นจริงไปแล้วเซินเจิ้นพัฒนาไปไกลและรวดเร็วเหลือเชื่อที่แน่ๆก็คือเป็นเมืองที่แม้จะมีตึกสูงมากมายแต่ก็เขียวชอุ่มมีประชากรมากกว่า12 ล้านคนและเป็นศูนย์กลางของบริษัทเทคโนโลยี่ระดับโลก เช่นหัวเหว่ย และเทนเซ็นต์ เป็นต้น

วันที่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศวิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นเซินเจิ้น เป็นเช่นใดนั้น ระบบทุนนิยมยังเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับประเทศจีน แต่เขาก็กล้าหาญพอ ที่จะประกาศให้นำระบบทุนนิยมมาทดลองใช้ที่นั่น เติ้ง บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นแมวดำหรือแมวขาว ถ้าจับหนูได้ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น

เรื่องราวของ เซินเจิ้น เป็นการยืนยันว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ ความเจริญและการพัฒนาจึงจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้โลกได้เปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น ไม่ว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นเช่นใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้เลยก็คือ ผู้นำยุคปัจจุบันนี้ จะต้องมีวิสัยทัศน์ ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์รวม ด้วย

เพราะดิจิทัลเทคโนโลยี่ กำลังโหมกระหน่ำอย่างรวดเร็วและหนักหน่วงราวสึนามิ ชนิดต้องติดตามแบบเกาะติด และคลาดสายตาไม่ได้เลย ดังนั้น องค์กรของท่าน จึงต้องชัดเจนว่าอยากจะเห็นภาพเช่นใดในเชิงดิจิทัล ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า

กว่าจะเป็นผู้นำระดับสูงได้เราก็มักเข้าสู่วัยกลางคนหรือเลยกลางคนไปแล้วการที่คนวัยนี้จะรู้ลึกและติดตามดิจิทัลเทคโนโลยี่ได้ทันตลอดเวลาคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากยกเว้นผู้ที่อยู่ในสายเทคโนโลยีโดยตรงเท่านั้นแต่คำแนะนำของผมในเบื้องต้นก็คือเราต้องไม่กลัว เทคโนโลยี่ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องมากนัก แต่ก็ต้องให้ความสนใจ ใส่ใจติดตาม และไม่กลัว

ไม่เช่นนั้นจะกำหนด “วิสัยทัศน์ดิจิทัล” ให้แก่องค์กรของท่านได้อย่างไร

การเป็นผู้นำดิจิทัล (Digital Leadership) หมายถึงเป็นผู้นำที่มีความพร้อมที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ดิจิทัล ให้องค์กรเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายใหม่ ที่ทันกับยุคสมัยและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ได้สำเร็จ

แต่การประกาศวิสัยทัศน์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้เซินเจิ้นมิได้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้เพียงเพราะเติ้งเสี่ยวผิงประกาศวิสัยทัศน์แต่ที่เกิดขึ้นได้เพราะมีการนำไปสู่การปฏิบัติ(Implementation) ซึ่งหมายถึงต้องมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกลยุทธ์ในการหาเงินทุนจากต่างประเทศการผ่อนคลายกติกาการทำธุรกิจการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถฯลฯ

พูดง่ายๆว่าวิสัยทัศน์ดิจิทัลที่จะสำเร็จได้ จะต้องตามด้วย การปรับเปลี่ยนองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเป็นระบบ

ผมมีข้อแนะนำสำหรับ ผู้นำยุคดิจิทัล อย่างนี้ครับ หนึ่ง อย่ากลัวเทคโนโลยี่สองหาคนเก่งเทคโนโลยี่มาช่วยดูแลสามดึงดูดและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำงานที่ท้าทายและสี่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพลวัตรและเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม

ถ้าเราเริ่มด้วยการไม่กลัวเทคโนโลยี่เราก็จะเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้และติดตามอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะรู้บ้างไม่รู้บ้างตามทันบ้างไม่ทันบ้างแต่อย่างน้อยก็ทำให้เราอยู่ในกระแสดิจิทัลและช่วยสร้างเสริมให้เราเกิดจินตนาการและวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล

ถ้าเราหาคนเก่งเทคโนโลยี่มาช่วยเราได้วิสัยทัศน์ดิจิทัลของเราก็มีโอกาสถูกมากกว่าผิดถ้าเราดึงดูดคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเจนวายและอยู่ในกระแสดิจิทัลหลักเข้ามาร่วมงานได้มากๆก็ยิ่งเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จให้มากยิ่งขึ้นและสุดท้ายแต่สำคัญยิ่งนักก็คือเราจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นพลวัตรไม่อืดอาดชักช้าไม่เต็มไปด้วยขั้นตอนไม่อยู่กับโลกใบเก่าที่เราคุ้นเคยมานาน

ผมพาดหัวไว้ว่าเมื่อรากฟันเทียม ทำโดยหุ่นยนต์ แล้วผู้นำจะทำอะไร ก็เพียงเพื่อจะกระตุ้นความคิดของผู้อ่านว่าดิจิทัลเทคโนโลยี่ ได้พัฒนาไปไกลเพียงใดแล้ว ไม่นานมานี้ ก็มีรายงานว่าเจ้าหุ่นยนต์ Todai ของญี่ปุ่น ได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดของญี่ปุ่น คือมหาวิทยาลัยโตเกียว โดยสอบทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ รวมทั้งเขียนเรียงความ 600 คำอีกด้วย

คะแนนที่มันสอบได้นั้น สูงกว่าของนักเรียนจำนวน 80% ที่เข้าสอบทั้งหมด อย่างนี้คุณว่าน่ากังวลไหมครับ

ก็อย่าถึงกับต้องปริวิตกมากเกินไปเลยครับเมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างเทคโนโลยี่มนุษย์ก็คงไม่พ่ายแพ้เทคโนโลยี่หรอกปล่อยให้เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ดูแลในเรื่องนี้ดีกว่าส่วนผู้นำองค์กร ไม่ว่ารัฐ หรือ เอกชน ก็ต้องเหยียบคันเร่งกันต่อไป เพราะ 4.0 นั้น อีกไม่ไกลเลย บางคนเขาบอกว่า อีกเพียง 3.6 เท่านั้นเอง....

แหม...ให้กำลังใจกันหน่อยก็ไม่ได้!