10 นวัตกรรม เราทำเอง

10 นวัตกรรม เราทำเอง

10 นวัตกรรม เราทำเอง

ว่ากันว่าคนไทยไม่มีเทคโนโลยีเพราะไม่เก่งเรื่องนวัตกรรม และเมื่อมองจากสัดส่วนเงินที่ใช้เพื่อวิจัยและพัฒนา (R&D) ของไทยอยู่ที่แค่ร้อยละ 0.6 ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร และเคมี เป็นหลัก ทำให้ภาครัฐมุ่งเน้นการกระตุ้นเงินลงทุนและวิจัยจากภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ มาตรการด้านยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่าย R&D กองทุนสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ขยายตัวได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้น มีการใช้จ่ายในหมวดดังกล่าวถึงระหว่างร้อยละ 2 - 4 ของรายได้ประชาชาติทุกปี หรือถ้าเปรียบเทียบกันให้ชัดเจน คือ เมื่อเทียบสัดส่วนกับรายได้ของประเทศ จีน สิงคโปร์ มีการลงทุน R&D มากว่าเราประมาณ 5 เท่า ในขณะที่ผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง อิสราเอล เกาหลี หรือญี่ปุ่นนั้น ทิ้งเราอยู่เกือบ 10 เท่า

จริงๆแล้ว เราต้องมีเทคโนโลยีหรือเปล่าถึงจะนับได้ว่าไทยมีนวัตกรรม? หรือเราสามารถมีนวัตกรรมได้แม้อาจไม่นำไปสู่เทคโนโลยี แต่ก็ยังเพียงพอให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำทางโลกธุรกิจได้? พอชวนคิดเช่นนี้ ผมจึงอยากจะขอเล่าถึงงานของทีมวิจัยจากบริษัทโดบลิน (Doblin) หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมในสหรัฐฯ งานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งนวัตกรรมทางธุรกิจทั้งหมดออกเป็น 10 ประเภทด้วยกัน โดยงานวิจัยของโดบลินได้กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจชั้นนำของโลกทั้งหลาย มักจะมีการใช้นวัตกรรมพร้อมๆกัน 5 ประเภทขึ้นไป ซึ่งนวัตกรรมทั้ง 10 ประเภทที่โดบลินได้ศึกษามา ได้แก่

1. นวัตกรรมบนแบบแผนของธุรกิจ (Business Model)ที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในอุตสาหกรรม สามารถนำมาเป็นจุดแข็งในการสร้างความเป็นผู้นำให้แก่บริษัทได้ เพราะในทุกอุตสาหกรรม มักจะมีผู้เล่นรายใหญ่และวิธีการขายที่ปฏิบัติเหมือนๆกันโดยเลียนแบบมาจากวิธีการของผู้เล่นรายใหญ่อื่น ฉะนั้น หากสามารถหาวิธีฉีกแนว ใช้วิธีขายในรูปแบบใหม่ๆก็จะทำให้เปิดตลาดเพิ่มเติมที่ผู้เล่นรายเก่ายังเข้าไม่ถึง

2. นวัตกรรมบนวิธีการสร้างเครือข่ายและ Supply Chainsเพราะไม่มีธุรกิจไหนสามารถอยู่คนเดียวได้ วิธีการสร้างเครือข่ายที่ไม่เหมือนใครในอุตสาหกรรมจึงเป็นอีกจุดแข็งในการแข่งขัน ทั้งการผนึกกำลังและการลดต้นทุนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของคู่ค้าหรือคู่ขาย

3. นวัตกรรมของระบบส่งเสริมความคิดริเริ่ม ความคิดริเริ่มนั้นเป็นบ่อเกิดของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าดังนั้นการสนับสนุนให้พนักงานคิดและแสดงออกเพื่อพัฒนางานของตนเองได้ จึงเป็นการสร้างจุดแข็งให้องค์กรโดยปริยาย เราจึงเห็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำให้ความสนใจอย่างมากกับการสนับสนุนความคิดริเริ่มของพนักงาน

4. นวัตกรรมของระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่ง นำไปสู่การประหยัดต้นทุนที่มากกว่า และสามารถป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วกว่า ด้วยราคาที่ถูกกว่า

5. นวัตกรรมบนคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสินค้า การสร้างสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพโดดเด่นและตอบโจทย์ของลูกค้าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ โดยหลายๆธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักจะมีสินค้าอย่างน้อย 1 ชิ้น ที่สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับบริษัทได้ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีความใส่ใจในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทิ้งห่างการเลียนแบบและคู่แข่ง

6. นวัตกรรมที่ต่อยอดจากสินค้าหลัก บางครั้ง สินค้าหลักอาจไม่สามารถสร้างความแปลกใหม่ได้ง่ายนักจากตลาดที่มีผู้ผลิตอยู่แล้วมากมาย แต่การต่อยอดเพิ่มเติมอาจทำให้เห็นจุดขายที่สำคัญและโดดเด่นกว่า 7. นวัตกรรมในการบริการลูกค้า ทั้งระหว่างและหลังการขายเป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ได้เฉพาะเจาะจงในด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการบริการที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นเกราะป้องกันการแข่งขันทำให้เกิดธุรกิจเพิ่มเติมได้ในระยะยาว 8. นวัตกรรมที่เกี่ยวกับช่องทางการเข้าถึงลูกค้า ในอดีตเราจะตั้งคำถามว่าลูกค้าจะเข้าถึงเราได้อย่างไร แต่ในปัจจุบันคำถามที่ถูกถามและสร้างความสำเร็จได้คือ เราจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่บวกกับวิทยาการการบริหารจัดการสมัยใหม่แล้ว ธุรกิจสามารถเข้าใกล้ลูกค้าได้มากกว่าในอดีตมาก 9. นวัตกรรมในการสร้างพันธสัญญาบนแบรนด์ เพราะแบรนด์มิใช่แค่โลโก้หรือชื่อที่สวยหรู ไม่ใช่เพียงแค่หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่น่ารักน่าซื้อ แต่เป็นศูนย์รวมของพันธสัญญาที่เรามีให้กับลูกค้าว่า หากใช้แบรนด์นี้สินค้ายี่ห้อนี้ นี่คือประสบการณ์ ประโยชน์ หรือบริการที่จะได้รับเสมอ และมันแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดเราอย่างไร จุดเริ่มต้นของสินค้าแบรนด์เนมส่วนใหญ่มาจากตรงนี้ และไม่สามารถสร้างกันได้ในระยะเวลาอันสั้น

10. นวัตกรรมจากการสร้างความผูกพันกับลูกค้า ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความผูกพันและความต้องการที่จะกลับมาใช้อีกหรือความต้องการที่จะแนะนำต่อ การพัฒนาสินค้าและบริการทั้งหมดจึงควรที่จะยึดว่าเราอยากจะมอบประสบการณ์ประเภทใดให้กับลูกค้า เพื่อมุ่งเน้นที่จะสร้างความผูกพันในระยะยาว ข้อผิดพลาดในธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจเริ่มต้นคือ เน้นการมุ่งขายหรือปิดดีลให้ได้ ทำให้ลืมนึกถึงการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความผูกพัน

จาก 10 ประเภทที่บริษัทโดบลินศึกษามาทำให้เห็นได้ว่า นวัตกรรมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสมอไป จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมจึงต้องมาจากผู้นำในองค์กรเองที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับการสร้างนวัตกรรมในขั้นตอนต่างๆให้เกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดนวัตกรรมไม่ควรถูกมองข้ามเพียงเพราะรู้สึกว่ายากหรือเป็นเรื่องของรายใหญ่เพียงอย่างเดียว เมื่อแตกย่อยลงแบบนี้แล้ว ผมหวังว่าทุกท่านจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า ทุกธุรกิจสามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้จริงๆ