เศรษฐกิจดีขึ้น ความจริงที่ใช่หรือแค่คิดไปเอง

เศรษฐกิจดีขึ้น  ความจริงที่ใช่หรือแค่คิดไปเอง

ประเทศไทยเราไม่ได้ด้อยไปว่าประเทศคู่แข่งขันเลย การที่พูดถึงกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องของความคิด การรับรู้  เท่านั้น

     งานแถลงข่าวระดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index of Thailand 2017 ในเวทีระดับโลก เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ World Economic Forum แถลงข่าวดีว่า ระดับความสามารถของประเทศไทยในระดับโลกเพิ่มขึ้นจากอันดับ 34 เป็นอันดับที่ 32 โดยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นจาก 4.64 เพิ่มขึ้นเป็น 4.72

     ดัชนีในการวัดในเจ็ดมิติและคะแนนทั้งหมดเกิดจาก มิติที่หนึ่ง Business sophistication เป็นเรื่องของกิจกรรมทางธุรกิจที่สลับซับซ้อนมากขึ้นทั้งด้านการผลิตและการตลาด คะแนนเพิ่มจาก 4.3 เป็น 4.4 มิติที่สอง Financial market development การหาแหล่งเงินทุนทั้งในตลาดทุน สินเชื่อ และ Venture capital สามารถทำได้ง่ายขึ้น คะแนนคงเดิม 4.4 ทั้งสองปี

     มิติที่สามเป็นเรื่องของ Technological readiness เป็นความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้นจากการขยายตัวของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.3 เป็น 4.5 มิติที่สี่เป็นเรื่องของนวัตกรรม เป็นความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยบริษัทมีการลงทุนใน R&D และมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น คะแนนเพิ่มจาก 3.4 เป็น 3.5

     มิติที่ห้าเป็นเรื่องของ Market size เป็นเรื่องของการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกโดยที่ตลาดต่างประเทศสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  คะแนนคงเดิมที่ 5.2 มิติที่หกเป็นเรื่องของ Infrastructure คะแนนได้เพิ่มสูงสุด จาก 4.4 เป็น 4.7 เนื่องจากการเดินทาโดยท่าอากาศยานและเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่มีการพัฒนาอย่างอย่างมากเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาและถนนพร้อมกับรางรถไฟมีแนวโน้มดีขึ้น

     มิติสุดท้ายเป็นเรื่องของ Institutions คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 3.7 เป็น 3.8 เพราะภาครัฐมีการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกลไกการปกป้องนักลงทุน และความเชื่อมั่นในนักการเมืองและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

     มิติสุดท้ายน่าจะเป็นความภุมิใจของรัฐบาลที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นแม้จะไม่มากในขณะที่มิติอื่นๆก็มีแต่จะดีขึ้นหรือเท่าเดิม หลายคนอาจจะมีความรู้สึกขัดแย้งเพราะรู้สึกว่าเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ดีขึ้น แต่ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขที่เกิดจากการวิเคราะห์ในภาพรวมและเทียบกับประเทศต่างๆในโลกที่ใช้สเกลคะแนนเต็ม 7

     ถ้าจะเทียบกับประเทศอื่นๆใน ASEAN ประเทศสิงคโปร์ได้คะแนน 5.71 และถูกจัดอยู่ในลำดับที่สาม ประเทศมาเลเซียได้คะแนน 5.17 และได้ลำดับที่ 23และประเทศไทยเราเป็นรองแค่สองประเทศนี้เท่านั้น เพราะเราได้คะแนน 4.72 ลำดับที่ 32 ตามด้วยประเทศอินโดนีเซีย (4.68,36) ประเทศบรูไน (4.52,46) ประเทศเวียตนาม (4.36,55) ประเทศฟิลิปปินส์ (4.35,56) ประเทศกัมพูชา (3.93, 94) ประเทศลาว (3.91, 98)

     เมื่อได้ทราบเช่นนี้แล้วความสามารถของประเทศไทยเราก็ไม่ได้น้อยหน้าใครมากนักในแถบประเทศอาเซียน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คงไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่เป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศและทิศทางการพัฒนาขีดความสามารถในเชิงแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งการแถลงประชุมครั้งนี้พบว่า

     ปัจจัยในการสร้างความสำเร็จเพื่อได้ดัชนีความสำเร็จเกิดจากองค์ประกอบปัจจัยสี่ด้าน ด้านแรกเป็นความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพของตลาดการเงิน ด้านที่สองเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ด้านที่สามเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากรในการสร้างนวัตกรรม และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของขนาดตลาดภายในประเทศและการพึ่งพาการส่งออก

     ดังนั้นประเด็นที่สำคัญจึงเกิดขึ้นว่าข้อเท็จจริงกับการรับรู้ของประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่กับข้อเท็จจริง (Fact  VS Perception) ในกรณีนี้การพิสูจน์เกิดขึ้นสามารถทำได้ไม่ยาก ลองเอาตัวเลขของสินค้าต่างๆมาเปรียบเทียบกันดูในแต่ละช่วงเวลา ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นการคิดทึกทักกันไปเอง

     สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “การคิดไปเอง” ของคนเรานั้น เกิดจากอะไร ทีผ่านมาเป็นการเกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับมาและจึงคิดว่าเป็นไปเช่นนั้น  ที่สำคัญถ้าประชาชนคนไทยเราคิดกันไปเอง รัฐบาลก็ต้องหากลยุทธ์ในการสื่อสารที่ได้ผลเพื่อเปลี่ยนการรับรู้และทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง 

    ในส่วนของธุรกิจสตาร์ทอัพ SME หรือธุรกิจในประเทศไทย คงต้องเอาแนวคิดในเชิงของการสร้างระดับความสามารถในเชิงแข่งขันมาประยุกต์ใช้ทั้งสี่ด้าน ลองเอาความคิดและปัจจัยในการพัฒนาประเทศไทยมาเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของตนเองก็น่าจะช่วยได้มากในการสร้าง Competitive advantage ให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน

     ตัวเลขที่นำเสนอมานี้ก็คงจะทำให้มองเห็นได้ว่าประเทศไทยเราไม่ได้ด้อยไปว่าประเทศคู่แข่งขันเลย การที่พูดถึงกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องของความคิด การรับรู้  เท่านั้นแต่ข้อเท็จจริงกลับอาจไม่ใช่เช่นนั้น แต่สิ่งที่สำคัญในขณะนี้ของภาครัฐคือ การสื่อสารให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร

     การรับรู้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าข้อเท็จจริง (Perception is important than fact)