คนการเงินกลุ่มไหนเสี่ยง Digital Disrupt

คนการเงินกลุ่มไหนเสี่ยง Digital Disrupt

เหรียญย่อมมีสองด้าน การมาของฟินเทคนอกจากทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายขึ้น แต่เทคโนโลยีก็อาจทำให้คนในวงการการเงินต้องปรับตัวครั้งใหญ่

มาดูกันว่าจะมีตำแหน่งอะไรบ้างที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถูกกระแส Digital Disrupt กลืนหาย

พนักงานหน้าเคานเตอร์ธนาคาร..เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันธนาคารเกือบทั้งหมดได้พัฒนาเวบไซท์และแอพพลิเคชั่นในการทำธุรกรรมการเงิน เช่น ถอนโอนเงิน กันเกือบหมดแล้ว และกำลังจะเพิ่มบริการขอสินเชื่อบนออนไลน์เข้ามาอีก ธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนสาขาลงเรื่อยๆ พนักงานที่ทำหน้าที่ทั่วไปโดยไม่มีใบวิชาชีพจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ยากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ทางรอดของพนักงานเหล่านี้คือการพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการบริการที่หลากหลายขึ้น เช่น มีใบอนุญาตให้คำแนะนำและขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต กองทุนรวม เพราะแม้จะเริ่มมีกระแสของการให้บริการคำปรึกษาออนไลน์หรือ Robo Advisor แต่ยังต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอีกพอสมควร เพราะเรื่องที่มีความซับซ้อน ลูกค้ายังมีความเชื่อใจในตัวบุคคลมากกว่า

เจ้าหน้าที่การตลาดประจำบริษัทหลักทรัพย์..ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นได้ย้ายไปอยู่บนช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่ทั่วโลก เจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์ ที่คอยรับคำสั่งจากลูกค้าแทบจะมีบทบาทลดลงอย่างมาก เหลือเพียงแค่การดูแลลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น ส่วนลูกค้ารายเล็กเริ่มหันไปใช้ฟินเทคด้านการลงทุน เช่น แอพลิเคชั่นแสกนหุ้นต่างๆเป็นตัวช่วยมากขึ้น โอกาสที่ลูกค้ากลุ่มนี้จะไปใช้บริการเจ้าหน้าที่การตลาดจะยิ่งน้อยลง ไม่นับแนวโน้มของการเทรดหุ้นที่จะเป็นแบบส่งคำสั่งความเร็วสูงหรือ HFT หรือ Auto Trade มากขึ้น โอกาสที่จะใช้คนส่งคำสั่งจะยิ่งน้อยลง

แม้กระทั่งผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ขึ้นชื่อว่ามีค่าตัวสูงและอยู่ในระดับสูงสุดของบุคลากรด้านการลงทุนยังมีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะมาตัดสินใจในการซื้อขายหุ้นแทนด้วยซ้ำ

ฝ่ายบัญชีและวิเคราะห์สินเชื่อบุคคลขั้นต้น.. แม้จะเป็นงานที่เริ่มมีความซับซ้อน แต่อนาคตบุคลากรทางด้านการบัญชีและวิเคราะห์สินเชื่อก็มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน โดยขั้นต้นจะนำระบบมาใช้กลั่นกรองข้อมูลพื้นฐานก่อน จากนั้นถึงจะส่งต่อให้บุคลากรระดับสูงเป็นผู้วิเคราะห์ต่อไป องค์กรขนาดใหญ่อย่าง PWC ก็เริ่มเตรียมการศึกษาที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบบัญชีขั้นต้นเช่นกัน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินหรือฟินเทคก็สามารถนำ Big Data หรือข้อมูลพื้นฐานลูกค้ามาใช้ในการวิเคราะห์การพิจารณาสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

เห็นได้ว่า พนักงานในอุตสาหกรรมการเงินทั่วไปที่ไม่มีความชำนาญพิเศษใดๆจะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทคโนโลยีการเงินเข้ามาแทนที่ ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จึงควรพัฒนาทักษะฝีมือให้มีความพิเศษเหนือกว่าเทคโนโลยี เพื่อที่จะยังคงอยู่รอดได้โดยไม่ถูก Digital Disrupt