ภาษีที่ดิน กับการสร้างวินัยการใช้เงินของ อปท.(จบ)***

ภาษีที่ดิน กับการสร้างวินัยการใช้เงินของ อปท.(จบ)***

ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรา 28) เปิดโอกาสให้ อปท. สามารถกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างจากอัตราตามพระราชกฤษฎีกาได้

แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และมาตรา 44 รัฐบาลสามารถตราพระกฤษฎีกา ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือสังคมหรือ เหตุการณ์หรือกิจการ หรือสภาพแห่งท้องถิ่นได้อำนาจดังกล่าวย่อมทำให้ อปท. มีแรงจูงใจที่จะกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจสังคม และความจำเป็นของการใช้เงินในการพัฒนาท้องถิ่น บาง อปท.อาจกำหนดอัตราภาษีให้ต่ำหน่อย บาง อปท.ที่มีความจำเป็นก็อาจกำหนดอัตราภาษีสูงขึ้น แต่ถ้าหากมีการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท จำนวนผู้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีจะมีจำนวนไม่กี่คน ดังนั้นอำนาจตามมาตรดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการคลังและการพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. ยกเว้นว่า อปท. จะมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มและกล้าขึ้นภาษีที่เก็บจากคนรวยไม่กี่คนใน อปท. ที่มีฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท

  ผลเสียหายสำคัญประการสุดท้าย คือ การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะทำลายบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น และการส่งเสริมประชาธิปไตยตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 (มาตรา 16)

หากประชาชนทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไรก็ตาม มีส่วนเสียภาษีให้แก่ อปท. สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ประชาชนในท้องถิ่นจะมีแรงจูงใจคอยเฝ้าติดตามว่าผู้บริหารท้องถิ่นเอาเงินภาษีของตนไปใช้ประโยชน์สำหรับคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ผลที่ตามมา คือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่นำเงินภาษีไปใช้ส่วนตัว หรือใช้ในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองท้องถิ่นจะต้องเริ่มคิดโครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ส่วนร่วมต่อท้องถิ่น

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนติดตามการใช้จ่ายของนักการเมือง อย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาผลประโยชน์จากภาษีที่ตนเสีย ในการเลือกตั้งระดับชาติ ประชาชนก็จะเรียนรู้ว่านโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง นโยบายใดเป็นนโยบายที่ดี คุ้มกับเงินภาษีของตน นโยบายใดเป็นประชานิยมที่จะก่อความเสียหายต่อส่วนรวม

ภาษีที่ดิน จึงเป็นภาษีที่ฝึกให้คนไทยคอยสอดส่องการใช้เงินของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เป็นภาษีที่ป้องกันมิให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบทางการคลังมาหาเสียง เป็นเครื่องมือสร้างวินัยการเงินการคลังให้กับพรรครัฐบาล ดีกว่าการตรากฎหมายห้ามพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมหาเสียง

ภาษีที่ดิน จึงเป็นภาษีที่ฝึกให้คนไทยคอยสอดส่องการใช้เงินของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เป็นภาษีที่ป้องกันมิให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบทางการคลังมาหาเสียง เป็นเครื่องมือสร้างวินัยการเงินการคลังให้กับพรรครัฐบาล ดีกว่าการตรากฎหมายห้ามพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมหาเสียง

คำถามสุดท้าย คือ ใครควรเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผมขอเสนอให้สมาชิกของ สนช. ใช้แนวคิดเรื่อง ทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องเสียภาษี “เสียน้อย หรือเสียมาก ก็ต้องเสียภาษี” เพราะคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องใช้บริการสาธาณูโภค/สาธารณูปการ ถนนหนทาง บริการเก็บขยะ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินภาษี ท่านที่วิ่งเต้นขอยกเว้นไม่ให้รัฐบาลเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ท่านไม่ละอายใจหรืออย่างไร ท่านต้องการบริการสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ แต่ท่านไม่ยอมเสียภาษีทางตรงที่จะนำมาจัดหาบริการเหล่านี้

ผมขอยกตัวอย่าง ประชาชนใน อบต. โพรงมะเดื่อที่มีที่ดินเกษตร 20 ไร่ เสียภาษีปีละ 110 บาท แต่เขาก็มีส่วนเสียภาษีให้ อบต.

ข้อเสนอของผม คือ ทุกคนที่มีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีบ้าง เช่น ถ้ามูลค่าที่ดินรวมกับบ้านที่อยู่อาศัยมีมูลค่า 1-20 ล้านบาท ขอให้เสียภาษ๊ปีละ 50 บาทต่อมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านบาท ถ้ามูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของท่านมีมูลค่า 20 ล้านบาท ท่านก็เสียภาษีปีละ 1,000 บาท เท่านั้น

ส่วนผู้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมกันมูลค่า 20.01-50 ล้านบาท ขอให้เสียภาษี 100 บาทต่อมูลค่าที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านบาท ดังนั้นถ้าที่ดินและบ้านของท่านมีมูลค่า 50 ล้านบาท ท่านก็เสียภาษีเพียง 100 บาท x 50 = 5,000 บาทต่อปี

ถ้าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ก็ให้เสียภาษีในอัตราที่กำหนดในร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณา

แต่ผมมีข้อสังเกตว่าในปีแรกที่มีการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผมไม่อยากให้รัฐบาลเก็บภาษีจนเกิดรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะรายได้จากภาษีนี้ย่อมเป็นภาระต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทางที่ดี คือ ในปีแรกที่เริ่มบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลควรมีเป้าหมายว่ารายได้รวมจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องไม่เพิ่มขึ้นจาก รายได้รวมในปี 2560 เกินกว่า 3%-3.5% ที่เป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วจึงค่อยๆปรับฐานภาษีขึ้นไปในเวลา 5 ปีแรก แต่อัตราการปรับฐานภาษีนี้ต้องเป็นอัตราที่กำหนดตายตัวในพระราชบัญญัติ มิใช่ปล่อยให้รัฐบาลในอนาคตเป็นผู้กำหนด

ผมหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิก สนช. ทุกท่านจะมีความกล้าหาญ เรียกร้องให้ทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกัน เสียภาษีตามหน้าที่ของพลเมือง เสียน้อย เสียมาก ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ร่วมกันเสียครับ

 ////

โดย นิพนธ์ พัวพงศกร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

*** ชื่อเต็มเรื่อง : ภาษีที่ดิน กับการสร้างวินัยการใช้เงินขององค์กรปกครองท้องถิ่น(จบ)