ถึงเวลาพ็อดแคสต์’ ฆ่าไม่ตาย ลุ้นให้โต

ถึงเวลาพ็อดแคสต์’ ฆ่าไม่ตาย ลุ้นให้โต

“พ็อดแคสต์(Podcast)คืออะไรหรอ?” เป็นคำถามที่หลายคนคิด แม้จะมีกูรูทั้งหลายอธิบายนิยามของมันมานานแล้วก็ตาม เคยหายไป แต่มันกลับมาแล้ว

พ็อดแคสต์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบัน บรรดาผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์(Content Creator)ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอทั้งภาพ เสียง ตัวอักษรและทุกวิถีทางเพื่อส่งมอบคุณค่าของสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันใครก็สร้างคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง เป็นผู้เสพสื่อแล้วยังผลิตสื่อได้เองในตัว เราสามารถบริโภคเรื่องราวดีๆได้จากช่องทางที่หลากหลายและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้าจอโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

สมัยก่อนเวลาที่เราต้องการแรงบันดาลในการใช้ชีวิตหรือการทำธุรกิจ ก็จะต้องสมัครคอร์สอบรมหรือไปฟังนักพูด ผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายตามเวทีต่างๆที่ฟรีบ้างไม่ฟรีบ้าง อันไหนติดใจก็ซื้อเทปหรือซีดีเอาไว้ฟังได้หลายรอบ แต่ไม่ใช่กับสมัยนี้ที่โลกได้รู้จักกับ’เท็ดทอล์ค(TED Talk)’มาพอสมควรแล้ว ซึ่งเชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ หรือใครสักคนที่โลกไม่รู้จักแต่ลุ่มลึกในบางสิ่งบางอย่างที่เขาทำ ให้มาพูดบนเวทีในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดนใจคนรุ่นใหม่ทั้งหลายที่ต้องการมุมคิดที่ดีมาเติมให้กับชีวิตในวันที่ข้อมูลล้นทะลักแต่เวลาว่างกลับน้อยลงทุกที เท็ดทอล์คจึงมีสโลแกนเป็น’ไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่และบอกต่อ(Idea worth spreading)’

แน่นอน มีองค์กรอีกจำนวนมากที่ผลิตเนื้อหาในแนวทางนี้ ทั้งการสอนธุรกิจ มุมคิดการบริหารจัดการ หรือ เรื่องราวชีวิตคนดังที่ผู้คนอยากรู้ ‘พ็อดแคสต์’เติมเต็มความต้องการส่วนนี้ได้ดี เพราะเป็นการเผยแพร่เสียงที่บันทึกไว้ รวมทั้งบทสนทนา การพูดคุยที่มีประเด็นน่าสนใจ คล้ายกับการฟังวิทยุ แต่ล้ำกว่ามาก ตรงที่เลือกเนื้อหา จัดกลุ่มคอนเทนต์ที่สนใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมไฟล์เสียงจากผู้ผลิตคอนเทนต์ยอดนิยมจำนวนมาก รวบรวมการแนวคิดให้แรงบันดาลใจ บทสัมภาษณ์พิเศษ หรือกระทั่งไฟล์เสียงบรรยายธรรมะก็ยังสามารถเลือกฟังผ่านพ็อดแคสต์ที่แยกหมวดหมู่ไว้เป็นอย่างดี

ในยุคของดิจิตอลคอนเทนต์นี้ พ็อดแคสต์เติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่สามารถฟังได้ขณะขับรถซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีบลูทูธที่มาพร้อมกับรถรุ่นใหม่ทำให้การเชื่อมต่อและเลือกฟังคอนเทนต์ผ่านมือถือง่ายขึ้น หลายคนก็ฟังขณะเดินทางบนรถไฟฟ้า หรือเปิดเติมสาระให้ตัวเองเสียหน่อยด้วยทอล์คโชว์ของนักธุรกิจระดับโลกแทนแทนการฟังเพลงที่บ้านก็ได้ ในแต่ละเดือนมีพ็อดแคสต์ใหม่บรรจุในไอจูนถึง4,000รายการ และคนอเมริกันถึง42ล้านคนฟังพ็อดแคสต์อย่างน้อย5รายการต่อสัปดาห์ ยังไม่นับรวมประเทศอื่นๆที่การใช้งานอินเตอร์เน็ตครอบคลุม เป็นโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นไม่แพ้กับออกซิเจนที่ใช้หายใจ

จากตัวเลขของ’เอดิสัน รีเสิร์ช แอนด์ ไทรตัน ดิจิตอล(Edison Research and Triton Digital)’ พบว่าตัวเลขของผู้ฟังพ็อดแคสต์สูงถึง168ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์2017ทีผ่านมา และผู้ชายใช้บริการมากกว่าผู้หญิงในสัดส่วน56และ44เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ  นักลงทุนทั้งหลายจึงเห็นโอกาสของพ็อดแคสต์ ซึ่งสามารถแทรกโฆษณาเข้าไปได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าสื่อประเภทอื่นมาก ขณะเดียวกันบรรดาคลื่นวิทยุตอนนี้ก็เริ่มที่จะนำรายการย้อนหลังของตนมาตัดต่อและแปลงโฉมเป็นพ็อดแคสต์เพื่อหาทางขยายฐานคนฟังและสร้างรายได้เพิ่มด้วย นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำยุคสมัยที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามต้องการแบบทันทีทันใด(On Demand)

ใครปรับตัวได้ทันก็อยู่ต่อ ใครตกขบวนก็มีแนวโน้มที่จะหายไป