ทำไมการลงทุนทั่วโลกถดถอย?

ทำไมการลงทุนทั่วโลกถดถอย?

เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามว่าทำไมการลงทุนในประเทศจึงถดถอยลงจากอดีตและทำไมการลงทุนในปัจจุบัน

จึงสร้างมูลค่าการส่งออกได้น้อยกว่าในอดีต 

เรื่องนี้ฟังดูอาจจะยาก แต่ถ้าหากดูข้อมูลแล้วจะเห็นว่าคำตอบชัดเจนเหลือเกินตารางที่ 1 แสดงอัตราส่วนของการลงทุนต่อ GDP ของประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ทั่วโลกอย่างน้อยก็ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

อัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ในตารางที่ 1 บอกภาพใหญ่ ๆ ว่า ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างมีการลงทุนสูงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมันนี สเปน สหราชอาณาจักร โปรตุเกส ญี่ปุ่น และ อิตาลี ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกอีกเหมือนกันที่มีการลงทุนถดถอยลงภายหลังวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงออกโดยตัวเลขของปี 2010 และ 2015 ส่วนใหญ่เป็นประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานเป็นต้นตอของปัญหาเอง

ข้อสังเกตสืบเนื่องที่ตามมา คือ ออสเตรเลียถือได้ว่าเป็นประเทศที่สามารถรักษาอัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ค่อนข้างสม่ำเสมอในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี่อาจจะเป็นสาเหตุที่อัตราการขยายตัวของ GDP โดยเฉลี่ยค่อนข้างสม่ำเสมอที่ระดับเดิม ๆ ประมาณ 2–4 % ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดแย่ลงในช่วงหลัง ๆ นี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมีเพียงความผันผวนของอัตราการขยายตัวของ GDP ที่ลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมากกว่าร้าย เนื่องจากการคาดคะเนภาวะเศรษฐกิจโดยหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ประเทศอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มากนักกลับมีอัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ในเกณฑ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากประเทศเหล่านี้จัดเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ ๆ ที่มีการลงทุนมากในช่วงหลัง ๆ นี้

สำหรับประเทศไทยมีอัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ในเกณฑ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง ซึ่งก็คงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการลงทุนที่ร้อนแรงที่สุดอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนและจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต หลังจากนั้นแล้ว การลงทุนก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยมาตลอด

สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับการลงทุนคือ การลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมีแนวโน้มไปในทางที่จะแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง แนวโน้มนี้อาจจะเริ่มต้นประมาณทศวรรณที่ 1980 แต่ก็กลายมาเป็นกระแสหลักมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 นี่คือปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจะต้องวิ่งลงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

แนวโน้มการย้ายแหล่งลงทุนไม่ยกเว้นแม้กระทั่งเกาหลีใต้ ที่จะต้องประสบกับปัญหากีดกันทางการค้าภายใต้สนธิสัญญาเขตการค้าต่าง ๆ แต่สิ่งที่น้อยคนนักจะมองคือ เกาหลีใต้มีปัญหาการขาดดุลการค้ามาตลอดในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น การย้ายแหล่งลงทุนเป็นการย้ายการขาดดุลการค้าไปยังประเทศอื่น เพียงแต่ว่าจะจัดการกับการไหลออกของเงินทุนที่มีขนาดน้อบกว่าอย่างไรเท่านั้น

สิ่งที่จะต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปคือ การที่วิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกาและวิกฤตการเงินยุโรปเกิดต่อเนื่องตาม ๆ กันมา สหรัฐอเมริกาอาจจะยังไม่ฟื้นอย่างเต็มที่หรือยังไม่มีนวัตกรรมใดที่จะทำให้การลงทุนฟื้นอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง ส่วนยุโรปเองไม่ต้องพูดถึงและไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่าการฟื้นตัวยังมองไม่เห็น คลื่นใต้น้ำภายใต้ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปบอกว่า สถาบันการเงินค่อนข้างมีปัญหาในเชิงความมั่นคงทางการเงิน (financial soundness) โดยทั่วไปเกินกว่าที่จะสามารถให้สินเชื่อตามปกติได้ ส่วนประเทศที่ประสบวิกฤตการเงินโดยตรงอย่าง PIIGS ล้วนแต่ยังมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงสุดโดยไม่มีแนวโน้มชัดเจนไปในทางที่ลดลง

ทั้งหมดนี้ บั่นทอนอำนาจการลงทุนและอำนาจซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก เราจึงยังคงเห็นการบริโภคและการลงทุนที่ต่ำเตี้ยทั่วโลก ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต่างมีระดับอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP สูง ๆ เป็นส่วนใหญ่จนแต่ละประเทศดิ้นไม่หลุดที่จะสามารถลงทุนสาธารณูปโภคอย่างขนานใหญ่เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ในปีนี้ IMF ได้ทำการรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทำการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นโดยได้โพสต์ไว้บนเวปไซต์หน้าแรก แต่อนิจจา IMF ให้คำแนะนำแต่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งในเรื่องนี้และการปิดสถาบันการเงินในยามที่เกิดวิกฤตขึ้น

ถ้าหากอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ยังไม่สูงนัก คำแนะนำเช่นนี้คงเป็นเรื่องดีอย่างเช่นกรณีของไทยเราในปัจจุบันนี้ ระดับหนี้ก็ยังไม่สูงนัก ที่สำคัญคือ ประเทศไทยเราไม่เคยมีการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างขนานใหญ่อย่างเช่นที่ทำอยู่ในขณะนี้มา 20 ปีแล้ว การทุ่มลงทุนสักครั้งยังคงอยู่ภายในขีดความสามารถที่ทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่การลงทุนนั้น ๆ สามารถชำระคืนเงินลงทุนได้ด้วยตัวเอง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลในการดึงเอาภาคเอกชนมาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมาลงทุน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสองส่วนที่ต้องทำเพื่อให้ระดับการลงทุนของเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งนอกไปจากการลงทุนภาครัฐบาล ทั้งสองส่วนนี้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้

การลงทุนในยุคนี้อาจจะก่อให้เกิดมูลค่าการส่งออกต่อการลงทุนได้ไม่มากเท่าแต่ก่อน แต่เราต้องมองว่า อุตสาหกรรมในประเทศได้เดินมาไกลมากแล้ว การลงทุนใหม่ ๆ ย่อมไม่มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างเต็มรูปแบบทั้งที่ดิน อาคาร และ เครื่องจักรอย่างในสมัยก่อน

อีกประการหนึ่ง เราต้องมองในแง่ดีว่า อำนาจซื้อภายในประเทศได้เดินมาไกลมากแล้วจนกระทั่งสามารถรองรับผลผลิตที่เกิดจากการลงทุนใหม่ ๆ ได้ ดังนั้นการลงทุนที่มีส่วนผสมของการลงทุนเพื่ออุปสงค์ภายในประเทศย่อมทำให้มูลค่าส่งออกต่อการลงทุนลดลงเป็นธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องมองว่า อำนาจซื้อภายในประเทศมีความสามารถในการแสวงหาเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง แม้ว่าจะมาจากภาคเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มิฉะนั้นเศรษฐกิจไทยคงจะลดค่าเงินบาทไปแล้วอีกไม่รู้กี่ครั้งภายหลังจากต้มยำกุ้งเป็นต้นมา