คอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์และอนาไลติกส์:เครื่องมือใหม่โรงพยาบาล

คอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์และอนาไลติกส์:เครื่องมือใหม่โรงพยาบาล

ประเทศไทยได้กำหนดให้การดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำไปเป็นนโยบายในการดำเนินการจัดทำระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล นอกจากนี้ ในระดับหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยสิทธิบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ทำให้มีประชากรกว่า 99.8% อยู่ในระบบประกันสุขภาพไทย ซึ่งปัจจุบันต้องรับภาระมากขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้เข้ารับการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และยังก่อให้เกิดความต้องการในการรักษาขั้นสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเมืองและการเพิ่มจำนวนขึ้นของชนชั้นกลาง หนึ่งในเทคโนโลยีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ คือ ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์และอนาไลติกส์ (Cognitive System and Analytics) โดยไอดีซีให้คำนิยามของระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ความสามารถของ Deep Natural Language Processing and Understanding เพื่อตอบคำถามและให้คำแนะนำแก่มนุษย์ โดยระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์จะตั้งสมมุติฐานขึ้นและค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้จากหลักฐานที่มีอยู่ โดยระบบนี้สามารถถูกฝึกฝนได้ผ่านการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาล

การเพิ่มขึ้นของดาต้า ทั้งดาต้าจากโซเชียลแพลตฟอร์ม ดาต้าด้านสุขภาพและเวชระเบียน ดาต้าจากแอพพลิเคชั่น อุปกรณ์สวมใส่ประเภท Wearables และเครื่องมือการแพทย์ต่างๆ ที่เป็นประเภท Connected Device ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์มาใช้งานมากขึ้น ดังเห็นได้จากการใช้งานเทคโนโลยี Natural Language Processing และ Deep Learning มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์และอนาไลติกส์สามารถพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้ 

1.เพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในกระบวนการวินิจฉัยและรักษา ผ่านการวิเคราะห์เวชระเบียน ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ผลการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก ภาพทางการแพทย์ และการให้คำแนะนำให้กับแพทย์เจ้าของไข้

2.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรและสินทรัพย์ รวมถึงทรัพยากรบุคคล โดยใช้ระบบวิเคราะห์ว่าควรจะจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในช่วงเวลาใดอย่างไร อ้างอิงตามจำนวนและข้อมูลผู้ป่วย

3.เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยใช้ระบบในการวิเคราะห์ผลสำเร็จของโครงการต่างๆ ประสิทธิภาพของพนักงาน ประสิทธิภาพของขั้นตอนการปฏิบัติงาน และการเบิกจ่ายงบประมาณ

4.เพิ่มประสบการณ์ในการเข้ารับบริการ โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาลผ่านการใช้งาน “แชทบอท” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถได้รับคำแนะนำ พูดคุยกับแพทย์ หรือแจ้งอาการป่วยได้ล่วงหน้าก่อนพบแพทย์ได้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็สามารถนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปใช้ได้เช่นเดียวกัน แต่จะต้องให้ความสำคัญกับ ปริมาณและความถูกต้องของดาต้า รูปแบบที่หลากหลายของดาต้า และความหลากหลายนี้เองอาจทำให้ระบบตีความผิดพลาด และที่สำคัญที่สุดคือต้องรับประกันถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกค้าด้วย