ค่าเงิน USD เปลี่ยนเทรนด์แล้วหรือไม่?

ค่าเงิน USD เปลี่ยนเทรนด์แล้วหรือไม่?

ค่าเงิน USD เปลี่ยนเทรนด์แล้วหรือไม่?

ช่วงนี้ เราอาจสังเกตได้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) มีทิศทางแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหลังจากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar index) ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดของปีที่ 91.35 จุด ในช่วงต้นเดือน ก.ย. หรืออ่อนค่ากว่า 10.6% เมื่อเทียบกับปลายปี 59 แต่หลังจากนั้นก็เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.5% เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุด (ข้อมูล ณ 2 ต.ค.) ซึ่งคงเป็นคำถามต่อไปว่า “ค่าเงิน USD เปลี่ยนเทรนด์แล้วหรือไม่?”

ส่วนในเรื่องคำตอบนั้น ผมคิดว่าอาจมีหลายมุมมอง แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไม Dollar index ถึงกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมขออธิบายเป็น 3 ประเด็น คือ

1) ค่าเงินยูโร (EUR) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของตะกร้าค่าเงินสหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงิน USD เนื่องจากผลการเลือกตั้งในเยอรมนีอาจนำไปสู่รัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพ อีกทั้งยังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในแคว้นกาตาลุญญาที่ต้องการแยกตัวออกจากสเปน จึงทำให้ Dollar index ปรับตัวสูงขึ้น

2) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านพ้นช่วงของการฟื้นตัวไปแล้วและมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง สังเกตได้จากผลการประชุมล่าสุด (19-20 ก.ย.) Fed ได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการลดขนาดงบดุล (Balance sheet tightening) ตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังมีการพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 1.25-1.5% ภายในปีนี้และจะยังคงขึ้นอีก 75bps ในปี 61 ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก จึงส่งผลให้ค่าเงิน USD ปรับตัวแข็งค่าขึ้น

และ 3) รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มกลับมาสร้างความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยการเปิดเผยร่างปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ซึ่งมีการปรับปรุงรายละเอียดและมีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้สภาคองเกรสพิจารณาผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด จึงเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนค่าเงิน USD

แต่หากยังพอจำกันได้ การอ่อนค่าของเงิน USD เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เกิดจากการที่นักลงทุนรู้สึกผิดหวังกับความล่าช้าในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ และการสืบสวนกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง ถึงแม้ว่าล่าสุดแผนปฏิรูปภาษีเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วมีเพียงข้อเสนอให้เก็บภาษีอัตราต่ำชั่วคราวสำหรับบริษัทที่นำกำไรซึ่งเกิดขึ้นนอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศ (Repatriation tax) เท่านั้นที่จะส่งผลต่อการแข็งค่าของเงิน USD

แต่ข้อเสนออื่นๆ ทำให้รายได้ภาครัฐลดลงจากการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของงบประมาณขาดดุลและการก่อหนี้สาธารณะ และอาจกดดันสกุลเงิน USD ให้อ่อนค่าลง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจยูโรโซนที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเริ่มทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงิน EUR แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ USD เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจว่า Fed จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยฯ ในปีหน้าได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ท่ามกลางภาวะชะงักงันของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี ผมมองว่า การกลับทิศของค่าเงิน USD ในระยะนี้จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะค่าเงิน USD ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยส่วนมาก (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ 2 ต.ค.) ที่ประเมิน Dollar index ในปี 61 จะอยู่ที่ 91.4 จุด ต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 93.6 จุด แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถกลับมาขยายตัวด้วยอัตราเร่งขึ้นจากการยกระดับผลิตภาพแรงงาน สินค้าทุน รวมถึงเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ ก็อาจจะเป็นหนทางให้ค่าเงิน USD กลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างมีเสถียรภาพอีกครั้ง ครับ