U.S. Shale Oil Flooding Total Supply?

U.S. Shale Oil Flooding Total Supply?

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา Fatih Birol กรรมการบริหารของ International Energy Agency (IEA) ได้กล่าวที่มาดริด สเปน ว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำ

ได้สร้างความเครียดให้กับน้ำมัน hydrocarbon แบบธรรมดาที่เคยมีมา ทั้งนี้ เพราะว่าการผลิตน้ำมันเชลบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกากำลังเขย่าตลาดน้ำมันโลก เมื่อปีที่แล้ว ราคาน้ำมันตกต่ำกว่า $30 ต่อบาร์เรลก็เพราะว่า การผลิตน้ำมันสหรัฐเพิ่มปริมาณอุปทานน้ำมันมากขึ้นไปจากการผลิตของบางประเทศในกลุ่มโอเปคที่มากอยู่แล้วที่เป็นไปเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด แต่การผลิตน้ำมันเชลของสหรัฐกลับทนทานต่อราคาน้ำมันที่ต่ำได้

น้ำมันเชลสหรัฐได้ทะลักออกมาในช่วงหลังๆ นี้และมีอัตราการเพิ่มที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งสะท้อนการลดต้นทุนอย่างมหาศาลและการพัฒนาทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมนี้ ผู้เขียนเองก็ได้เคยกล่าวไว้ในบทความในคอลัมน์นี้มาแล้ว

ในแหล่งน้ำมันเชลสำคัญๆ ผู้ผลิตใช้วิธีการขุดเจาะและสูบน้ำมันที่ก้าวหน้า เช่น hydraulic fracturing เพื่อบีบน้ำมันและก๊าซให้ออกมาจากชั้นหิน อย่างไรก็ตาม หลุมน้ำมันใหม่ๆ เริ่มส่งสัญญานว่า ผลิตภาพที่สูงขึ้นอาจมีขีดจำกัด โดยจะเห็นได้ว่าหลุมใหม่เมื่อปีที่แล้วผลิตได้ประมาณ 700 บาร์เรลต่อวัน แต่หลุมใหม่ในปัจจุบันนี้ได้เพียงประมาณ 600 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มจะต้องเจาะในบริเวณที่สภาพธรณีวิทยาที่ไม่อำนวยเท่าแต่ก่อน

เมื่อราคาน้ำมันดิ่งเหวในปี 2014 บริษัทที่จัดหาแท่นขุดเจาะ คณะช่างปฏิบัติงาน และ ที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี ต่างได้รับการร้องขอให้ลดราคาค่าบริการ แต่ขณะนี้ เริ่มเรียกร้องขอขึ้น 10-15% ภายหลังจากที่การขุดเจาะเป็นไปด้วยความคึกคักยิ่ง เป็นที่คาดหมายว่า ต้นทุน break-even จะเริ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2012 โดยที่ต้นทุนเฉลี่ยจะสูงขึ้น $1.60 โดยเฉลี่ยมาอยู่ที่ $36.50 ต่อบาร์เรล แต่ว่า ผู้ให้บริการในวงการคาดว่าการขึ้นค่าบริการไม่น่าจะรุนแรงนัก เนื่องจากกำลังที่จะรับงานยังคงมีเหลืออยู่บ้าง ต้นทุนส่วนที่ลดได้ตั้งแต่ 2014 น่าจะค่อนข้างถาวร แต่ความหวังที่จะลดต้นทุนได้มากๆ อีกคงค่อนข้างเลือนรางต่อจากนี้

ประมาณการของ IEA แสดงว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันเชลของสหรัฐมีระดับสูงสุดในปี 2012 ที่ $70 ต่อบาร์เรลและลดลงมาอยู่ที่ $40 เมื่อปีที่แล้ว

สถิติล่าสุดชี้ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมของสหรัฐ ณ สัปดาห์ที่ 2 ของพฤษภาคมอยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.8% ปีต่อปี แม้กระนั้นก็ตาม West Texas Intermediate กลับเพิ่มขึ้น 7% ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณการผลิตรวมข้างต้นนั้นมาจากการผลิตน้ำมันเชลถึง 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือมากถึงกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันเชลเพิ่มขึ้นทุกเดือนๆ ละกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา หรือ คิดเป็นเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคิดเป็นอัตราการเพิ่มกว่า 10% ต่อปี นี่คือสิ่งที่ทำให้โอเปคปวดหัวอย่างยิ่ง เนื่องจากปริมาณการผลิตที่โอเปคร่วมกับรัสเซียตัดลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันเกือบจะถูกหักล้างไปทั้งหมดโดยปริมาณการผลิตของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น

จำนวนผู้ผลิตน้ำมันเชลเริ่มมีต้นทุนการขุดเจาะที่เสมอตัวและทำกำไรได้มีมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงกว่า $50 เมื่อปลายปีที่แล้วจากการลดปริมาณการผลิตของโอเปค

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันคงคลังที่ลดลงในสหรัฐอเมริกาทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นภายหลังการประกาศปรับลดการผลิตของโอเปคเมื่อปลายปีที่แล้วและขึ้นๆ ลงๆ อีกหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันจะไม่มีปัจจัยหนุน ตรงกันข้าม มีแต่ปัจจัยลบจากปริมาณการผลิตของโอเปคที่พุ่งสูงสุดในเดือนกรกฎาคมจากประเทศสมาชิกโอเปคที่ไม่อยู่ในข่ายบังคับใช้โควต้า เช่น ประเทศในอัฟริกาอย่างลิเบีย อีกทั้งการผลิตในสหรัฐอเมริกาเองยังคงขยายตัวต่อไป

ปริมาณการผลิตของสหรัฐอเมริกาเคยสูงสุดในอดีตที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 1970 แต่สถิตินั้นถูกทำลายในปี 2017 นี้ ทั้งนี้ ก็ด้วยการขยายตัวอย่างบ้าคลั่งของปริมาณการผลิตน้ำมันเชลมาตั้งแต่ปี 2011 และสูงสุดในปีนี้ที่ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่น้ำมันปิโตรเลียมธรรมดาจากแหล่งอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นในอ่าวเม็กซิโก ล้วนแล้วแต่ลดลงทั้งสิ้นดังแสดงในรูปที่ 1 และจะเห็นได้จากรูปที่ 2 ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญๆ อื่นๆ อย่างชัดเจน น้ำมันเชลจึงเป็นก้างขวางคอชิ้นสำคัญของโอเปคโดยแท้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันเชลในหลุมใหม่ๆ เริ่มลดลงแล้ว ทำให้ค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ต่อหลุมเริ่มคงที่ที่ 4,800 บาร์เรลต่อวันดังแสดงในรูปที่ 3 เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบาทของน้ำมันเชลในการเป็นตัวนำการขยายตัวของปริมาณการผลิตของสหรัฐโดยรวมจะเริ่มหมดไปภายในเวลา 2 ปี

ดังนั้น เราคงคาดคะเนได้ว่า ตั้งแต่ประมาณปี 2020 เป็นต้นไป แรงกดดันที่จะทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้นก็จะลดลงไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้บนข้อสมมติฐานที่ว่า เทคโนโลยีการผลิตน้ำมันเชลไม่มี break through ใหม่ๆ ที่มีนัยสำคัญจริงๆ