Gen Y รุ่นสุดท้าย

Gen Y รุ่นสุดท้าย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งนิสิตในระดับปริญญาตรีที่จบการศึกษาในปีนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว

จะเป็นผู้ที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1995 หรือ พ.ศ. 2538 หรือใกล้เคียง หนังสือหลายๆ เล่ม รวมทั้งผู้รู้หลายๆ ท่านได้ระบุไว้ว่าปี 1995 นั้นจะเป็นปีสุดท้ายของกลุ่มคน Gen Y ส่วนกลุ่มคน Generation Z มักจะได้แก่ผู้ที่เกิดตั้งแต่ ประมาณช่วง ค.ศ. 1996-1998 (ไม่มีนิยามที่แน่นอนว่า Gen Z เริ่มต้นที่ปีใด แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงกลางๆ ทศวรรษที่ 1990) ดังนั้นนับได้ว่าบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานในขณะนี้เป็น Gen Y รุ่นสุดท้าย

แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าคนรุ่นใหม่จะเป็น Gen ใดก็ตาม ก็ต้องถือได้ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เมื่อเขาจบการศึกษาออกไป สิ่งที่พวกเขาจะเผชิญก็จะแตกต่างจากคนรุ่นเก่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป มีความเป็นไปได้สูงว่าศาสตร์และสาขาวิชาต่างๆ ที่คนรุ่นนี้ได้ศึกษาเล่าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อพวกเขาจบออกมาแล้วอาชีพเหล่านั้นก็อาจจะสูญสลายหรือล้าสมัยไป ขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพใหม่ๆ ที่เราไม่เคยนึกฝันหรือจินตนาการมาก่อน รวมทั้งไม่ได้มีวิชามารองรับต่ออาชีพใหม่เหล่านั้นในรั้วมหาวิทยาลัย

ลองนึกย้อนอดีตไปเมื่อ 10 ปีท่ีแล้วก็ได้และเราจะพบว่าอาชีพต่างๆ เหล่านี้ เราไม่เคยนึกถึงหรือเตรียมพร้อมไว้เลย ไม่ว่าจะเป็น App Developer, Social Media Manager, Data Scientist, Cloud Computing Specialist, Sustainability Manager หรือ YouTuber เป็นต้น ดังนั้นคงจะคาดเดาได้ว่าในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีอาชีพใหม่ๆ อะไรอีกบ้างที่เราไม่เคยได้ยินหรือคิดถึงมาก่อนในปัจจุบัน

นอกจากนี้วิถีในการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ก็จะแตกต่างจากในอดีต สำหรับท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน เราใช้เวลานานกว่า 30 ปี (หรือตลอดทั้งชีวิต) กับอาชีพๆ หนึ่ง แต่สำหรับคนยุคใหม่ พวกเขาจะผ่านอาชีพต่างๆ มาไม่ต่ำกว่า 10 อาชีพก่อนถึงอายุ 40 เนื่องจากคนรุ่นนี้ไม่ได้มองหาแต่อาชีพที่มีแต่ความมั่นคงอีกต่อไป แต่พวกเขาแสวงหางานที่มีความท้าทาย งานที่ทำให้พวกเขาได้เกิดการเรียนรู้ ได้มีโอกาสในการเติบโต และเนื่องจากคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสและทางเลือกในชีวิตมากขึ้น พวกเขาจะไม่มีความอดทนต่องานที่น่าเบื่อหรืองานที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้และแสดงศักยภาพออกมา

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับบัณฑิตใหม่จำนวนหนึ่ง และพบว่าหลายคนกำลังจะเปลี่ยนงานภายในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือนหลังจากจบ และสาเหตุนั้นก็คือเนื่องจากงานที่ทำไม่น่าสนใจ งานน่าเบื่อและพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้เกิดการเรียนรู้หรือท้าทายความสามารถของตนเองเท่าไร หลายคนเลือกที่จะทำงานกับบริษัทเล็กๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเนื่องจากได้ทำงานที่ท้าทายและได้เรียนรู้ หลายคนเลือกที่จะไม่ทำงานแต่เลือกที่จะค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบหรือต้องการสิ่งใดในชีวิตกันแน่

เท่าที่ได้คุยกับผู้บริหารในหลายๆ องค์กร องค์กรธุรกิจเกือบทุกแห่งก็ตระหนักถึงความท้าทายของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าถึงแม้หลายแห่งจะพยายามปรับตัว แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้ใจเด็กรุ่นใหม่ ผมได้เคยอ่านข้อเขียนของลูกศิษย์ Gen Y ที่ระบุไว้ว่าอะไรคือสาเหตุที่เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากจะเป็นลูกจ้าง สาเหตุ 2 ประการแรกนั้นชัดเจนมาก นั้นคือ “เราไม่ได้เบื่อการเป็นลูกจ้าง แต่เราเบื่อนายจ้าง” ส่วนประการที่ 2 ได้แก่ “ก็เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นลูกจ้างอ่ะ”

อย่าลืมว่าความท้าทายจากความหลากหลายของ Generation ในปัจจุบันนั้นยังเป็นเพียงแค่ Gen Y ถ้าในอนาคตเมื่อ Gen Z เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เช่ือว่าผู้บริหารยุค Baby Boomer หรือ Gen X คงจะปวดหัวมากขึ้น และสุดท้ายอาจจะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น ที่เราเรียกว่า Generations Diversity Specialist ก็เป็นได้