วงจรแห่งความสำเร็จ

วงจรแห่งความสำเร็จ

ธุรกิจยุคปัจจุบันต้องดำเนินไปอย่าง “ไร้ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ทางธุรกิจประการแรกที่เราประสบอยู่ในทุกวันนี้ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม 

ตัวอย่างหนึ่งที่ยกขึ้นในฉบับที่แล้วคือ โนเกีย ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะยุติความยิ่งใหญ่ลงภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังการมาของสมาร์ทโฟน อีกตัวอย่างที่กำลังจะเห็นก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดูเหมือนจะลงหลักปักฐานมานับร้อยปี

แต่เมื่อโลกกำลังจะเข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับและระบบเศรษฐกิจแบบ “Sharing Economy” ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปแลกเปลี่ยนทรัพยากรของตัวเองได้อย่างเสรี ความมั่งคงของธุรกิจนี้จึงมีปัญหาขึ้นทันที

ระหว่างวันหากจอดรถอยู่เฉยๆ ก็เท่ากับว่าปล่อยให้คุณค่าของมันเสียเปล่า แต่ในอนาคตเมื่อรถยนต์ขับเคลื่อนเอง รถยนต์จะกลายเป็นบริการแบบออนดีมานด์ เรียกใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องครอบครองเป็นเจ้าของตลอดเวลา

บริการเช่นอูเบอร์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น เพราะบริษัทรถยนต์ที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่กี่ปีอย่างเทสลาก็กำลังจับแนวทางใหม่นี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งมูลค่าของบริษัทแซงหน้าบริษัทรถยนต์เก่าแก่ที่อยู่มานานกว่าเป็นสิบเป็นร้อยปีไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ

แนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม การรอให้สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดอนาคตของเราคงไม่ใช่เรื่องดีแน่เพราะนั่นเท่ากับเราไม่มีทางเลือกใดๆ ในการปรับตัว แต่หากตระหนักได้ว่าไม่มีธุรกิจใดที่ยั่งยืน ก็จะทำให้เรามองหาโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่เป็นผู้ปฏิวัติวงการให้ผู้อื่นตามในที่สุด

ประการที่ 2 คือ ต้องหาหนทางสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะแต่ไหนแต่ไรเราจะคุ้นเคยกับการสร้างธุรกิจที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการนำเอาวัตถุดิบจากแหล่งหนึ่งมาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการป้อนให้กับอีกธุรกิจหนึ่งหรือขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง

คุ้นเคยกับระบบที่เกื้อหนุนกันและกัน เพราะทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันจนขาดใครไปไม่ได้ แต่การจะอยู่รอดได้ในอนาคตอาจต้องหาทางสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาเป็นของตัวเองด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของเบื้องหลัง “ความขายดี” ของไอโฟนที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่มีอีโคซิสเต็มส์ที่สร้างขึ้นเป็นองค์ประกอบความสำเร็จที่สำคัญ ทั้งเปิดกว้างให้คนทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมทั้งแต่งเพลง สร้างภาพยนตร์ ผลิตเกม พัฒนาแอพพลิเคชั่น ฯลฯ

หากแอ๊ปเปิ้ลขายแต่เพียงไอโฟนเป็นหลักก็น่าจะอยู่ในตลาดได้เพียงไม่กี่ปีเหมือนกับสมาร์ทโฟนอีกหลายๆ ยี่ห้อที่ล้มหายตายจากไป แต่ระบบนิเวศน์ของแอ๊ปเปิ้ลนั้นใหญ่มากและคนที่อยู่ในระบบก็รู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจนไม่มีใครอยากเห็นระบบนี้ต้องล่มลง

การจะสร้างระบบหรือแพลตฟอร์มขึ้นมาเป็นของตัวเองได้จึงไม่ได้อยู่ที่การคิดถึงผลกำไรและความอยู่รอดของตัวเราเองฝ่ายเดียว แต่ต้องมองทะลุถึงผู้อื่นที่อยู่ใน Value Chain เดียวกันกับเรา และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับเพื่อให้เขามีกำลังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ระบบของเราได้

ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงลูกค้าว่าต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือนอกจากสินค้าและบริการของเราจะต้องดีเลิศแล้ว ผู้ที่อยู่ร่วมแพลตฟอร์มของเราก็ต้องคัดสรรมาจนมั่นใจว่าส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้เช่นกัน