เอสเอ็มอีกับเป้าหมาย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDG

เอสเอ็มอีกับเป้าหมาย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDG

ท่านผู้อ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” หลายท่านคงจะรับทราบถึงเรื่องการพัฒนาสุ่ความยั่งยืนให้กับโลกซึ่งเป็นความริเริ่มและมุ่งมั่นมาจากองค์การสหประชาชาติ

โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศที่ร่วมในพันธสัญญานำไปปฏิบัติ และตั้งเป้าหมายที่จะให้เกิดความสำเร็จขึ้นในปี 2030 คือ ในอีกประมาณ 15 ปีจากนี้

องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งรู้จักกันในนามของ SDG ที่ย่อมาจาก The Global Goals for Sustainability Development

เป็นเป้าหมายที่จะทำให้โลกของเรายังคงเป็นแหล่งอาศัยของมวลมนุษย์ได้อย่างมั่นคง มีความสุขในการดำรงชีวิต ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เนื่องจากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นทุกขณะว่า โลกกำลังจะเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน ด้วยการกระทำของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกนี่แหละ!

เป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ที่ได้รับการเห็นชอบแล้ว ได้แก่

SDG 1 - การขจัดความยากจนในหมดไป SDG 2 - การขจัดความหิวโหยให้หมดไป SDG 3 - การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 4 - การได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน SDG 5 - การได้รับความเท่าเทียมกันทางเพศ SDG 6 - การจัดการทรัพยากรน้ำและการสุขาภิบาลที่ดี SDG 7 - การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

SDG 8 - การได้ทำงานที่ดีเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG 9 - การพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน SDG 10 - การลดความเหลื่อมล้ำ SDG 11 - การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน SDG 12 - การบริโภคและการผลิตที่มีความรับผิดชอบ SDG 13 - การป้องกันสภาพภูมิอากาศเปลื่ยนแปลง

SDG 14 - การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล SDG 15 - การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก SDG 16 - การมีสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และมีความแข็งแรง และ SDG 17 - เกิดความร่วมมือกันทั่วโลกในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

บางคนอาจจะเห็นว่า เป้าหมายทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเรื่องของรัฐ และเป็นเรื่องในระดับประเทศเท่านั้น แต่การพัฒนาสู่เป้าหมายความยั่งยืนนี้ สามารถเริ่มขึ้นได้จากระดับตัวบุคคล กลุ่มบุคคล ระดับธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐและการปกครอง ไปจนถึง ระดับนโยบายของประเทศ

แต่เนื่องจากเป้าหมายส่วนใหญ่ อาจจะเป็นที่เข้าใจได้ยากสำหรับบุคคลหรือองค์กรในระดับล่าง หรือที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น การให้ความรู้ แนวทาง และคำแนะนำ ต่างๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติสู่เป้าหมายทั้ง 17 ข้อ จึงเป็นเรื่องสำคัญของฝ่ายที่มีอำนาจปกครองในประเทศ ที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ที่มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี อยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ

ซึ่งหากรัฐ สามารถให้ความรู้และข้อแนะนำแก่เอสเอ็มอีเหล่านี้ ให้ปรับแนวทางการทำธุรกิจจากเดิม ไปสู่แนวทางของการพัฒนาโลกให้เกิดความยั่งยืนได้ โดยไม่กระทบต่อผลประกอบการทางธุรกิจอย่างฉับพลัน ผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นได้ว่า เอสเอ็มอีของประเทศ จะมีแนวทางการทำธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและภูมิอากาศของโลก และต่อสังคมโดยรวมได้เป็นอย่างดี

สำหรับธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี ที่อาจมีส่วนช่วยในการเดิมเข้าสู่เป้าหมาย SDG อาจให้ความสนใจในประเด็นต่อไปนี้

ให้ความสนใจกับการจ้างงาน การพัฒนาพนักงาน โดยคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถ ให้ความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้เกิดผลการทำงานที่ดี การได้เลื่อนขั้นตำแหน่งอย่างยุติธรรม เกิดความมั่นคงในอาชีพการงาน นำไปสู่ SGD 5, 8 และ 9

ให้ความสนใจกับการพัฒนาผลิตภาพในการผลิต ลดความสูญเสีย ลดต้นทุน สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร หรือบริการร้านอาหาร ก็ควรให้ความสนใจกับอาหารหรือส่วนประกอบอาหารที่ผู้บริโภคมักจะเหลือทิ้ง นำไปสู่ SDG 2 และ 12

ส่วนธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น ธุรกิจการประมง ก็จะเกี่ยวข้องกับ SDG 14 โดยตรง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงาน ก็จะเกี่ยวข้องกับ SDG 7 เป็นต้น

หากเอสเอ็มอี จะมีความริเริ่มที่จะปรับธุรกิจของตนเอง เข้าสู่แนวทางใดแนวทางหนึ่งของ SDG ในข้อใดข้อหนึ่งของ 17 ขัอที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะถือได้ว่า ธุรกิจแม้จะมีขนาดเล็ก ก็ได้มีส่วนช่วยส่งมอบโลกที่มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนส่งต่อไปให้กับอนุชนรุ่นต่อไป

ได้อย่างมีความรับผิดชอบและภาคภูมิใจ !!??!!