3 เหตุผลที่ “กิจการเพื่อสังคม” ล้มเหลว

3 เหตุผลที่ “กิจการเพื่อสังคม” ล้มเหลว

เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันเห็นบทความชิ้นหนึ่งจาก World Economic Forum เกี่ยวกับความล้มเหลวของกิจการเพื่อสังคม น่าสนใจไม่น้อย ขอหยิบมาฝากกันค่ะ

โดยทั่วไปนั้น เมื่อมีธุรกิจทั่วไปรายใดรายหนึ่งต้องล้มลงหรือเลิกกิจการ ก็คงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับเจ้าของ รวมถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้น และลูกค้าย่อมพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

แต่สำหรับกิจการเพื่อสังคม หรือ SE หากต้องล้มเหลวหรือปิดตัวลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลไปถึงประชาชนหรือเครือข่ายสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นๆ เช่น ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ หรือผู้ที่พึ่งพิงกิจการนั้นๆ อยู่ (หรือที่เรียกว่าBeneficiary) ซึ่งทำให้กิจการเพื่อสังคมนั้นต้องมีความรอบคอบและรับผิดชอบมากกว่าธุรกิจทั่วไป นั่นก็เพราะผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงกว่าค่ะ

 พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การล้มเหลวของกิจการเพื่อสังคมนั้นมีความเปราะบางและอ่อนไหวกว่าธุรกิจทั่วไป ดังนั้นลองมาดูกันค่ะ ว่าปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวนั้นมีอะไรบ้าง

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเพื่อสังคมมักไม่ได้ออกมาพูดถึงความล้มเหลวทางธุรกิจของตนเองมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยหากจะมีข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวนี้ออกมาเป็นกรณีศึกษาบ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานวิจัย “ความล้มเหลว” ที่มีชื่อว่า TheFailure Institute ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความล้มเหลวของกิจการเพื่อสังคม โดยวิเคราะห์จากตัวอย่างกิจการเพื่อสังคม 115 รายที่ประสบความล้มเหลว โดยครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการทั้งหมดมีอายุมากกว่า 30 ปี และส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก มีเพียง 5%ที่มีพนักงานมากกว่า 20 คน และมีมากถึง 79%ที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือการบ่มเพาะทางธุรกิจ

ในจำนวนของกิจการเหล่านี้ มี 38%ที่อยู่ได้ไม่ถึงปี ขณะที่ 45%อยู่ได้ราว 1-3 ปี, 9%อยู่ได้ราว 4-6 ปี และมีเพียง5%เท่านั้นที่อยู่ได้มากกว่า 10 ปีในรูปของบริษัท

โดยในมุมมองของผู้ประกอบการ พวกเขามองว่ามีปัจจัย 3 ประการที่เป็นเหตุให้กิจการเพื่อสังคมของตนต้องล้มเหลว ได้แก่

  1. การขาดแคลนทรัพยากรและโครงสร้างทางธุรกิจซึ่งรวมถึงการขาดเงินทุนตั้งต้นสำหรับกิจการเพื่อสังคม การไม่มีผู้สนับสนุนทางการเงิน และการขาดประสบการณ์ในการทำโครงการระดมทุนทางสังคมต่างๆ ซึ่งพวกเขาจึงให้คำแนะนำว่า ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมควรมีทักษะทางด้าน “การเงิน” อย่างมาก ซึ่งจะทำให้สามารถหานักลงทุนหรือผู้ร่วมทุนเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมได้ต่อไป
  2. ปริบทแวดล้อมสภาพแวดล้อมที่กิจการเพื่อสังคมนั้นๆ ดำเนินอยู่โดยมากนั้นมักจะไม่เอื้อต่อการประกอบกิจการเท่าไรนัก อาทิเช่น นโยบายของภาครัฐในหลายๆ ประเทศนั้นไม่ได้ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม รวมถึงอาจไม่มีข้อยกเว้นทางภาษีหรือกฏหมายต่างๆ เพื่อจูงใจกิจการเพื่อสังคมมากเท่าที่ควร
  3. การตั้งคณะกรรมการในกิจการเพื่อสังคมส่วนมาก กรรมการจะประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการในลักษณะนี้มักมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นความขัดแย้ง หรือConflictทางธุรกิจอย่างหนึ่ง เนื่องจากจะทำให้ขาดการแบ่งแยกความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ขาดความมุ่งมั่นจากกลุ่มผู้ก่อตั้ง รวมถึงยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างสมาชิกกรรมการด้วยกันเอง

กิจการเพื่อสังคมนั้นไม่เหมือนกับธุรกิจทั่วๆ ไป เนื่องจากกิจการเพื่อสังคมนั้นมักจะเกี่ยงข้องหรือสะท้อนโดยตรงถึงคุณสมบัติส่วนบุคคลของตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านั่นก็หมายรวมถึง ทักษะในการจูงใจหาสมาชิก, อาสาสมัคร หรือนักลงทุน รวมถึงความสามารถในการสร้างเครือข่ายสนับสนุน และความสามารถในการลดทอนความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในองค์กรด้วยกันเองอีกด้วย

หากเทียบกับธุรกิจทั่วไป ความสามารถเหล่านั้นเกี่ยวพันโดยตรงกับทักษะทางด้านการการบริหารโครงการ หรือProject Managementเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการในท้ายที่สุด

การวิจัยความล้มเหลวในครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ที่ยังต้องมีการค้นหาคำตอบต่อไป นั่นก็คือ แล้วเราจะป้องกันความล้มเหลวของกิจการเพื่อสังคมได้อย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้อาจจะช่วยให้กิจการเพื่อสังคมทั่วโลกเข้าใจว่า “ความล้มเหลว” นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเดินทาง และเมื่อเราหลีกเลี่ยงความล้มเหลวไม่ได้จริงๆ จะทำอย่างไรให้ “ล้มแล้วลุก” ขึ้นมาได้อย่างชาญฉลาด

  เอาใจช่วยผู้ประกอบการเพื่อสังคมทุกท่านค่ะ