สมุนไพรไทย...เอายังไงดี

สมุนไพรไทย...เอายังไงดี

ในการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรไทยเมื่อเร็วๆนี้ มีผู้ชี้แจงมาจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องที่เน้นก็คือการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรไทยที่จะต้องไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เท่าที่ฟังจากผู้ชี้แจง ทำให้ทราบว่า เรามีแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 และมีคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ และสมุนไพรที่จะเป็นตัวนำ (Product Champion) ก็จะมีประมาณ 10 ชนิดเช่น ขมิ้นชัน กราวเครือขาว กระชายดำ บัวบก ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม เป็นต้น

ปัจจุบัน เราใช้สมุนไพรมากสุด ไม่ใช่ในฐานะยารักษาโรค แต่เป็นการนำไปใช้ประกอบการบริการอื่น เช่น นวดแผนไทย สปาเพื่อสุขภาพ โดยทำเป็นลูกประคบ หรืออะไรอย่างอื่น ที่ทำเป็นยารักษาโรคจริงๆ จังๆ อย่างเช่น ยาแผนปัจจุบัน เกือบจะไม่มีเลย

แม้ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้ามาร่วมพัฒนาเพื่อให้มีการสกัดตัวยาจากสมุนไพรมาเป็นยารักษาโรคดังเช่นยาแผนปัจจุบัน แต่เท่าที่ฟังจากผู้ชี้แจงทั้ง 2 กรมของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะพัฒนาได้ขนาดไหน และยิ่งถ้าจะให้ได้รับการยอมรับเหมือนยาแผนปัจจุบัน ดูจะยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง

ทุกวันนั่งดูทีวีจากช่องต่างประเทศจะมีข่าวเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลรวมถึงตัวยาใหม่ๆ ที่บริษัทยาระดับโลกเช่น Pfizer หรือ Novartis ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคสำคัญๆเช่น มะเร็ง แล้วก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ยาที่สกัดจากสมุนไพรไทยได้รับการยอมรับ สามารถผลิตขายได้เม็ดละเรือนพัน เรือนหมื่น หรือแม้กระทั่งเรือนแสนบาทอย่างเขาได้บ้าง

ในต่างประเทศนั้น ความสำเร็จของการใช้ยาในการรักษาโรคนอกจากจะมีความสัมพันธ์กับตลาดทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า ยังมีความสัมพันธ์ในแง่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย เพราะบริษัทที่ผลิตยาสำคัญๆ มักอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถระดมทุนเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยผลิตตัวยาใหม่ๆ ที่ใช้ทั้งเวลาและต้นทุนมหาศาล เวลาที่บริษัทยาเหล่านี้ออกยาตัวใหม่ประสบความสำเร็จ ราคาหุ้นของบริษัทก็ดีดตัวขึ้น พอเกิดมีข่าวผู้ใช้ยาเสียชีวิต ราคาหุ้นบริษัทผลิตยานั้นก็ตกฮวบ บริษัทยาที่เป็น Big Name ในโลกนี้มีไม่มากนัก กว่าจะผลิตยาออกมาขายได้ตัวหนึ่งใช้เวลาทดลองนานมาก ทดลองแล้วทดลองอีก กว่าจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผลิตมาขายได้

แต่ของเราคงยังไม่ถึงขนาดนั้น ราคายาที่สกัดจากสมุนไพรไทยนั้นต่ำมาก และเกือบจะไม่มีใครยกระดับขึ้นมาเป็นยาแผนปัจจุบันได้เลย

คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากไม่ได้เป็นแพทย์หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องตัวยานั้นไม่มีความรู้เลย

แต่ที่สนใจคือไม่ว่าตัวยาจะสกัดมาได้อย่างไร ยาสมุนไพรไทยก็ยังไม่โตสักที และแม้จะมีการผลิตออกมาเป็นเม็ดหรือแคปซูล ประชาชนก็ไม่ค่อยยอมรับ ยกเว้นประเภทยาหม่อง ยาอม ยาดม ยาลมที่เป็นยาสามัญทั่วๆ ไปใช้ทาถูนวดเล็กๆ น้อยๆ สูดแก้ลมดมแก้หวัด และสถานพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าทั้งภาครัฐหรือเอกชนก็ไม่เคยจ่ายยาที่ผลิตจากสมุนไพรไทยให้ผู้ป่วย และถึงจ่ายให้ผู้ป่วยบ้างก็ดูเหมือนไม่ได้รับการยอมรับเหมือนยาแผนปัจจุบันอยู่นั่นเอง

ระหว่างฟังคำชี้แจงและตอบคำถามจากผู้ร่วมประชุม ผู้ชี้แจงก็ดูเหมือนจะยอมรับในความจริงนี้ว่ายาสมุนไพรไทยนั้นไปกันได้ดีกับงานบริการแบบไทยๆ เช่น นวดแผนไทย สปาเพื่อสุขภาพแบบไทย คิดเป็นรายได้ระดับหมื่นล้านบาท แต่ถ้าเป็นตัวยาจริงๆ ยอดขายแค่ระดับ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น

ประมวลจากข้อมูลที่ได้รับฟังในที่ประชุม ขอตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีหลายเหตุผลที่ทำให้ยาที่สกัดจากสมุนไพรไทยไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอาทิ

  1. ชื่อยาที่เป็นแบบไทยๆทำให้ไม่น่าเชื่อถือเหมือนยาชื่อภาษาอังกฤษ บางทีถ้าเปลี่ยนเป็นชื่อฝรั่งอังกฤษอาจทำให้ประชาชนสนใจใช้มากขึ้น เพราะสังเกตจากยาประเภทแก้ปวดหัวตัวร้อนปวดท้องเป็นไข้ที่เป็นยาสามัญมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษซื้อหาได้จากร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องให้แพทย์สั่ง ก็ขายในตลาดได้ดี บริษัทเอกชนที่ผลิตออกมาขายก็มีกำไรไม่น้อย
  2. เรื่องการทำตลาด ยาที่สกัดจากสมุนไพรไทยมักเป็นยาประเภททั่วไป ไม่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ไม่น่าเชื่อถือว่าจะใช้รักษาโรคเฉพาะได้
  3. เรื่องการจดสิทธิบัตรยา เรายังมีปัญหามากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ยาจากสมุนไพรหลายชนิดที่จดสิทธิบัตรไม่ได้ ไม่สามารถผลิตเพื่อการค้าได้
  4. ผู้ผลิตยาระดับโลก ไม่ยอมรับเพราะถือว่ายังไม่ได้มาตรฐานการผลิตและการวิจัย จึงทำการตลาดในต่างประเทศไม่ได้
  5. ผู้คิดจะใช้ยาสมุนไพรไทยยังไม่มีความมั่นใจเหมือนการใช้ยาฝรั่ง เพราะยาฝรั่งที่เป็นยาแผนปัจจุบันนั้น หากผู้ใช้นำไปใช้แล้วเกิดปัญหา เกิดความสูญเสีย บริษัทยาสามารถรับผิดชอบสูงสุด แต่ยาสมุนไพรไทย ถ้าเกิดใช้แล้วมีปัญหาใครจะรับผิดชอบ หรือขนาดความรับผิดชอบจะมีขนาดไหน จะเหมือนผู้ผลิตยาฝรั่งต่างประเทศหรือไม่
  6. เรายังไม่มียาที่เป็นตัวทำตลาดหลักหรือ product champion อย่างแท้จริง เรายังไม่ประสบความสำเร็จอย่างจริงจังเชิงคุณภาพเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ทั้งคนจ่ายยาและผู้ใช้ยาไม่มั่นใจ
  7. แพทย์ประจำสถานพยาบาลบ้านเราเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ยาที่ใช้จึงเป็นยาฝรั่งแผนปัจจุบัน ไม่มีใครกล้าสั่งจ่ายยาสมุนไพร ทำให้ยาสมุนไพรไทยถูกใช้เฉพาะการรักษาพยาบาลแบบแผนโบราณ รวมทั้งเน้นไปที่เรื่องการเสริมสุขภาพหรือความงามมากกว่าใช้รักษาโรคโดยตรง

ยาสมุนไพรไทย แม้ว่าจะพัฒนามาได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่จะให้ได้รับการยอมรับถึงขนาดที่จะมาทดแทนยาแผนปัจจุบันคงเป็นไปได้ยาก จึงคิดว่า ถ้าจะพัฒนากันจริงๆ ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางของสมุนไพรที่หลายประเทศทำได้สำเร็จ เช่น โสมของเกาหลี ถั่งเช่าของจีน และไม่ได้เน้นใช้รักษาพยาบาลโรค แต่เสริมสุขภาพหรือเสริมความงาม อย่างนี้น่าจะทำได้ดีกว่า

รัฐบาลต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมสุขภาพเติบโตและเป็นจุดขายใหม่ของประเทศ เป็น Thailand 4.0 มีแผนก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่เน้นเรื่องนี้ เป็นความหวังหนึ่งของรัฐบาล แต่ดูท่าทางแล้ว คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้สมุนไพรไทยกลายเป็นยารักษาโรคเฉพาะได้เหมือนยาฝรั่งแผนปัจจุบัน จึงคิดว่าถ้าเราเน้นเป็นส่วนเสริมให้พัฒนายิ่งๆขึ้นไป น่าจะดีกว่า

ถ้าเราแข่งกับคนอื่นตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาตลาดเฉพาะของเราเอง เพราะถ้าเราเดินผิดทาง เงินทุนที่ใส่เข้าไปเพื่อการพัฒนาอาจไม่คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้ดี