เรื่องที่ผู้นำทำไม่ได้

เรื่องที่ผู้นำทำไม่ได้

คนที่รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือผู้นำมักจะเป็นผู้ที่ต้องเจอกับความเครียดอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะผู้นำมักจะถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง

ให้สามารถทำสิ่งต่างๆเพื่อ ตอบสนองความต้องการของพวกเขานั่นเอง ยิ่งหากพวกเขามีความต้องการที่ขัดแย้งกันด้วยแล้ว ผู้นำก็ยิ่งเครียดมากขึ้นไปอีกเรามาคุยกันนะคะว่าผู้นำส่วนใหญ่มักมีความเครียดจากเรื่องอะไรบ้าง เผื่อว่าหลายท่านที่กำลังเครียดในเรื่องเหล่านี้อยู่จะได้สบายใจขึ้นมาบ้างว่าไม่ได้มีแต่ข้าพเจ้าคนเดียวที่เครียดเรื่องนี้

ทำให้ทุกคนพอใจ ผู้นำทุกคนย่อมอยากเป็นที่รักที่นับถือของคนในทีมงานเดียวกันทั้งสิ้น แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีผู้นำคนไหนทำได้หรอกค่ะ สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้นำคนหนึ่งจะทำได้ก็คือพยายามทำทุกอย่างในความสามารถที่มีเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกคนรู้สึกดีขึ้น หากผู้นำถามตัวเองแล้วมั่นใจว่าตนเองทำอย่างดีที่สุดโดยยึดหลักความถูกต้องยุติธรรมเป็นปณิธานในการทำงานแล้ว ก็ต้องทำใจให้หนักแน่นไม่น้อยใจเสียใจเมื่อมีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านไม่มีฝีมือในการทำงานหรือเล่นพรรคเล่นพวก

ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า “แม้พระพุทธองค์ยังไม่พ้นคนนินทา” ดังนั้นเมื่อท่านเป็นคนธรรมดาๆคนหนึ่ง และคนอื่นๆก็เป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เราก็ต้องรู้จักทำใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรนำมาคิดไตร่ตรอง และอะไรเป็นสิ่งที่ควรทิ้งไปไม่นำมาคิดให้รกสมอง

ถอยห่างจากการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ในขณะที่ผู้นำบางคนเก็บทุกเรื่องมาคิด บางคนก็ไม่อยากจะรับผิดชอบนำเรื่องใดๆมาคิดเอาเสียเลย ผู้นำไทยมักโดนลูกน้องคนไทยบ่นว่าเป็นผู้นำที่ไม่กล้าตัดสินใจ เลี่ยงความรับผิดชอบโดยการยืดเวลาที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญออกไปเรื่อยๆจนเกิดความล่าช้าไม่ทันการ เกิดความเสียหายที่แก้ไขไม่ทัน สำหรับเรื่องนี้ผู้นำที่ดีไม่สามารถทำได้ค่ะ ต้องยืดอกอย่างกล้าหาญระดมสมองจากทีมงานให้ช่วยกันคิดหาทางออกที่ดีที่สุดหากไม่สามารถคิดหาทางออกคนเดียวได้ เขาเลือกให้ท่านเป็นผู้นำก็เพราะเขาเชื่อว่าท่านมีวิจารณญาณที่ดีที่สุดแล้ว หากยังกลัวการตัดสินใจอยู่ ให้อ่านบทความนี้ในข้อต่อไปค่ะ

ผู้นำต้องถูกเสมอ นี่เป็นความคิดความเชื่อที่ผิด แน่ละที่คนที่เป็นผู้นำควรจะมีความสามารถ ประสบการณ์และการตัดสินใจที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกคนอื่นๆ แต่ผู้นำทุกคนย่อมสามารถทำอะไรผิดพลาดได้ เพียงแต่ว่าในการตัดสินใจแต่ละครั้งขอให้แน่ใจว่าได้ระดมสมองและข้อมูลจากหลายๆคนและดำเนินการตัดสินใจอย่างมีหลักการแล้ว และพยายามสร้างแผนสำรองไว้ด้วยหากเกิดการผิดพลาดจะได้มีหนทางแก้ไขได้ แต่ถ้าทำอย่างดีที่สุดแล้วแต่ยังพลาด ก็ต้องเข้มแข็งกล้ารับผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราไม่ว่ามันจะออกมาอย่างไร นี่คือสปิริตของผู้นำค่ะ

คิดว่าทุกคนเข้าใจตัวท่านและสนับสนุนท่าน เวลาที่ผู้นำหลายคนประสบความสำเร็จติดต่อกัน ความสำเร็จเหล่านั้นมักสร้างความมั่นใจให้ผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะมั่นใจเกินไป คิดว่าสิ่งที่ตนคิด พูด ทำถูกที่สุด ดีที่สุด แล้วก็เลยลืมตัวเลิกสนใจความคิดความเห็นของผู้อื่นซึ่งเป็นหนทางสู่ความเสื่อมในที่สุด ผู้นำจะลืมอะไรก็ตามที แต่ถ้าลืมตัวแก้ไขยากค่ะ ต่อให้เก่งเท่าเก่งผู้นำก็ต้องหมั่นสื่อสารสองทางกับผู้คนรอบข้างเสมอ นั่นคือต้องมีการชี้แจงสื่อสารแนวคิดและแนวทางการทำงานของตนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจนสม่ำเสมอ และต้องสนใจสอบถามรับฟังความเห็นและคำถามจากพวกเขาเป็นระยะๆ อย่าได้ประมาทว่าพวกเขาจะเข้าใจและสนับสนุนตัวท่านในทุกเรื่องและตลอดไป ผู้นำทุกๆคนต้องจำใส่ใจเลยว่าการสื่อสารสองทางที่สม่ำเสมอจะช่วยรักษาเสียงสนับสนุนของท่านไว้ได้

หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ผู้นำอย่าเข้าใจผิดว่าต้องได้รับแต่เสียงสนับสนุนเห็นชอบกับท่านเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับท่านล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา การที่ทุกคนเออออห่อหมกไปกับท่านหมดใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี บางทีพวกเขาอาจจะเสแสร้งทำเป็นเห็นด้วยกับท่านทั้งๆ ที่ท่านกำลังคิดผิดและกำลังก้าวไปสู่หายนะ เป็นเรื่องธรรมดาที่ทีมงานย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันบ้าง แทนที่จะเพิกเฉยต่อความเห็นต่าง ผู้นำควรส่งเสริมให้แต่ละคนได้แสดงเหตุผลประกอบความคิดของเขา ให้เปรียบเทียบข้อเด่น ข้อด้อยของความเห็นแต่ละความเห็นเมื่อมีเวลาเพียงพอที่จะทำได้เพื่อแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุด เว้นเสียแต่เมื่อมีเหตุวิกฤตเร่งด่วนต้องรีบตัดสินใจ แบบนั้นผู้นำจึงสมควรใช้อำนาจในการตัดสินใจของตน แต่ในยามปกติควรเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็น และหากมีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันก็จะได้แก้ไขความเข้าใจผิดกัน อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจติดกันไว้นานๆ จะทำให้ขาดความสามัคคีของหมู่คณะ

ปล่อยให้มิตรภาพมาทำให้งานเสีย ข้อนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้ผู้นำ “พังเพราะเพื่อน” ค่ะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของสังคมเอเซียที่ให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว มิฉะนั้นแล้วเราคงไม่ได้เห็นกรณีอดีตปธน.ของประเทศเกาหลีใต้ ปาร์ค กึน เฮ ที่ถูกพิพากษาให้หลุดจากตำแหน่งเพราะพัวพันกับการคอร์รัปชั่นที่มีนางชอย ซุน ซิล เพื่อนสนิทเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เวลาคนเราเป็นใหญ่เป็นโตมักมีญาติสนิทมิตรสหายเข้ามาใกล้ชิดแสดงความเห็นและขอความช่วยเหลือมากมาย ผู้นำต้องใช้ความระมัดระวังแยกแยะศัตรูออกจากหมู่มิตรให้ดีๆ อย่าหลงเชื่อคำยกยอปอปั้นของคนรอบข้างง่ายๆ และต้องใช้ความละมุนละม่อมที่จะต้องปฏิเสธผู้ใกล้ชิดที่อาจฉุดท่านลงเหวได้เพราะท่านใจอ่อนกับพวกเขา

ไม่ยอมวางมือจากอำนาจ เรื่องของอำนาจที่หลายคนอยากมีอยากได้และอาจเสพย์มันจนติด เมื่อวันหนึ่งต้องหมดอำนาจลง ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครทำตาม บางคนถึงกับทนไม่ได้ เศร้าซึมหงอยเหงาตรอมใจจนป่วย ผู้นำต้องฝึกทำใจให้พร้อมที่จะเป็นคนธรรมดาๆที่ต้องทำอะไรด้วยตนเอง เช่น ยืนเข้าแถวรอคิว ไม่มีสิทธิ์พิเศษ ทานอาหารร้านธรรมดาๆ ขึ้นรถสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องไม่ยึดติดกับตำแหน่ง เท่านั้นยังไม่พอ ผู้นำบางคนไม่อยากโค้ชให้ลูกน้องก้าวขึ้นมาแทนที่ตัวอีกด้วย ความใจแคบติดในยศศักดิ์จะลดศรัทธาที่คนมีในตัวท่าน แต่หากท่านมีใจกว้าง มีความปรารถนาดีอยากส่งเสริมให้ผู้น้อยได้เติบโตก้าวหน้าเหมือนอย่างท่าน คนอื่นย่อมสรรเสริญและระลึกถึงคุณความดีของท่านไม่รู้ลืม

ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่ผู้นำทำไม่ได้และไม่ควรทำค่ะ แต่ที่น่าจะยากกว่าเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คงไม่พ้นเรื่องที่ผู้นำต้อง “ทำใจ” ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง ช่างสมกับคำกล่าวของคนโบราณว่าไว้ไม่มีผิดเลยว่า “ชนะอะไรไม่เท่าชนะใจตัวเอง” จริงไหมคะ