บริษัทจัดสรรที่ดินร้าง จัดตั้ง "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ได

บริษัทจัดสรรที่ดินร้าง จัดตั้ง  "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ได

ผู้ซื้อบ้านจัดสรรรวมตัวร้องสมาคมนักบริหารอาคารชุด - หมู่บ้านจัดสรรไทย สาธารณูปโภคขาดการดูแล บำรุงรักษา ชำรุดทรุดโทรม ตรวจสอบพบว่า

บริษัทจัดสรรที่ดิน "ร้าง" ติดต่อผู้จัดสรรที่ดินไม่ได้ ผู้ซื้อประสงค์จดทะเบียน "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ? 

            ขอเรียนว่าการจดทะเบียนจัดตั้ง "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ตามนัยพระราชบัญญัติ การจัดสรรที่ดิน ๒๕๔๓ และแก้ไข เพิ่มเติม ๒๕๕๘ มาตรา ๔๓ บัญญัติ หรือกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดิน มีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่จัดทำขึ้นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะกระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความสะดวกมิได้ อีกทั้งผู้จัดสรรที่ดินยังมีหน้าที่จัดทำสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (LG ธนาคาร) มอบให้แก่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ มาตรา 44 บัญญัติ หรือกำหนดกรณีผู้จัดสรรที่ดินรายใดประสงค์ (จะ) ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่จัดทำขึ้น หรือแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๒๓ (5) ให้ผู้จัดสรรที่ดิน มีหนังสือแจ้งต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ให้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นขึ้นมารับโอนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณูปโภคจากผู้จัดสรรที่ดิน ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการเรื่องดังกล่าวไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือมากกว่าระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หรือผู้จัดสรรที่ดินได้รับการอนุมัติการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด หรือจดทะเบียนโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 44 (2) อย่างใด อย่างหนึ่ง ก็ได้

            กรณีข้างต้น เมื่อผู้ซื้อบ้านจัดสรรได้รับความเดือดร้อน ความเสียหายอันเกิดจากผู้จัดสรรที่ดินปล่อยปละ ละเลย ขาดการดูแล บำรุงรักษาสาธารณูปโภคในโครงการหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งพบว่าบริษัทจัดสรรที่ดินอยู่ในสถานะ "ร้าง" ตามข้อมูลที่ปรากฏ หรือได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านจัดสรรไม่สามารถติดต่อผู้จัดสรรที่ดิน หากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรประสงค์ (จะ) จดทะเบียนจัดตั้ง "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน แนะนำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ดำเนินการ (ปฏิบัติ) ดังต่อไปนี้ 

            1. แจ้ง ส่งหนังสือให้บริษัทผู้จัดสรรที่ดินทราบถึงความเดือดร้อน ความเสียหายอันเกิดจากการปล่อยปละ ละเลยการทำหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคในโครงการ และสำเนาหนังสือดังกล่าวแจ้ง  ส่งให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดพิจารณาในคราวเดียวกันด้วย

            2.ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรแต่งตั้ง "ทนายความ" โดยขอให้ร้องต่อศาล ไต่สวน กรณีการเกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนจากการปล่อยปละ ละเลยจากหน้าที่ในการดูแล บำรุงรักษาสาธารณูปโภคของบริษัทจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ให้ศาลมีคำพิพากษา และอาศัยคำพิพากษาศาล แสดงเจตนาการขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 44 (1) และให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด ออกหนังสือรับรองการตรวจสอบสาธารณูปโภคให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ใช้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นฯ 2559

 /////

โดย... นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย และ

"ที่ปรึกษา" ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ